สปสช. แจงสิทธิ "รากฟันเทียม" บัตรทอง มีเงื่อนไขต้องไม่มีฟันทั้งปาก ไม่สามารถใส่ฟันปลอมได้แล้ว ถึงจะผ่าตัดใส่รากฟันเทียม
เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 3 กองทุน คือ บัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ จัดให้การทำฟันเทียมหรือฟันปลอมเป็นสิทธิประโยชน์แล้ว แต่รากฟันเทียมยังมีเฉพาะสิทธิบัตรทอง เริ่มดำเนินการจริงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา และไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคน มีเงื่อนไขคือ ผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่สูญเสียฟันทั้งหมดของขากรรไกรบนหรือล่าง และมีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรมาก จนไม่สามารถใส่ฟันเทียมตามปกติได้ หรือใส่ฟันปลอมทั้งปากแล้วหลวม/หลุด และทันตแพทย์ไม่สามารถแก้ไขได้แล้วจึงพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม
"ผู้ป่วยจะต้องทำฟันปลอมก่อน เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้รู้ว่า ใส่ฟันปลอมแล้วสามารถใช้งาน บดเคี้ยวอาหารได้มากน้อยเพียงใด มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากไม่มีปัญหา บดเคี้ยวอาหารได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่รากฟันเทียม แต่หากหลวม หลุดง่าย จะปรับแก้จนไม่สามารถปรับแก้ได้แล้ว จึงพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม" ทพ.อรรถพรกล่าว
ทพ.อรรถพรกล่าวว่า ขั้นตอนการรับสิทธิ ผู้ป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำตามปกติ หากรักษาไม่ได้จะแนะนำให้ไปรับบริการในหน่วยที่ผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้ ขณะนี้มีประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ และไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัว ทั้งนี้ รากฟันเทียมสิทธิบัตรทอง อยู่ในบัญชีนวัตกรรม ผลิตโดยบริษัทคนไทย องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อแทน สปสช. สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระจายไปที่ Center ของแต่ละจังหวัด เมื่อมีบริการเกิดขึ้น สปสช.จะจ่ายชดเชยค่าบริการแบบเหมาจ่าย 17,500 บาท/ราย และมีค่าติดตามการรักษาปีที่ 1 เหมาจ่าย 700 บาท/ครั้ง ปีที่ 2-5 เหมาจ่ายปีละ 2,800 บาท โดยติดตามอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง