xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์ชี้กฎตรวจสุขภาพจิตก่อนรับราชการ ทำตีตรา ไม่มีประโยชน์ เหตุไม่มีอาการตอนตรวจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิตแพทย์ชี้กฎ ก.พ. ตรวจสุขภาพจิตก่อนเข้ารับราชการ อาจเกิดการตีตรา การตรวจไม่มีประโยชน์ เพราะคนมักไม่มีอาการหรือไม่ได้ป่วยตอนตรวจ 90% มักป่วยหลังเข้ารับราชการแล้ว ด้าน ก.พ.แจงกำหนดเฉพาะโรคจิตและอารมณ์ผิดปกติที่ปรากฏอาการเด่นชัด บุคคลต้องห้ามต่องมีอาการตอนตวจ

เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชัน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีมีกฎตรวจสุขภาพจิตก่อนเข้ารับราชการ ในเวทีเสวนา “ปิดช่องว่าง สร้างโอกาส เพิ่มความเป็นธรรม กับประเด็นสุขภาพจิต จิตเวชและจิตสังคม” จัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ว่า เรื่องนี้จะมีผลตามมาที่นึกไม่ถึง คือ หลายคนขอเข้ารักษาโดยไม่ลงทะเบียน เพื่อไม่ให้มีประวัติในการรับราชการ นี่เป็นสิ่งที่ไม่ได้คำนึงถึง ทั้งที่จริงแล้วอาจเป็นเพียงโรคซึมเศร้าที่รักษาแล้วก็กลับไปทำงานได้ รวมถึงการตรวจสุขภาพจิตก่อนทำงาน จะทำให้คนเกิดการตีตราและประสิทธิภาพการตรวจแทบไม่มีประโยชน์ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีอาการตอนที่ตรวจ ถ้าป่วยในขณะนั้นก็ไม่มีทางที่จะสอบราชการผ่านอยู่แล้ว ฉะนั้น เขาสอบผ่านมาได้ แสดงว่าไม่มีอาการทางจิต แต่ส่วนใหญ่กว่า 90% มักจะป่วยหลังจากที่เข้ารับราชการแล้ว ไม่ว่าจะสาขาไหน

"หน่วยงานต้องให้ความสำคัญ อย่างที่ผ่านมาพบว่าเมื่อพบผู้ป่วย ก็ให้แยกตัวออกไป ไม่ส่งรักษา เมื่อไม่ได้รับการรักษา อาการก็มากขึ้น จากนั้นก็ตั้งคณะกรรมการให้ออก ซึ่งนี่เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้น หน่วยงานต้องเข้าใจเพี่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะการคัดกรอง 1.ไม่ได้ผล มั่นใจว่าถ้ากฎหมายออกมาแล้วจะไม่พบผู้ป่วยในการคัดกรองเลย แต่ตรงกันข้าม จะทำให้เกิดการรังเกียจผู้ป่วย ผลที่ตามมาคือ ไม่สร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงาน เพราะคิดว่าคัดกรองแล้วก็จบ แต่ในความจริง คนมักไม่ป่วยตอนที่คัดกรอง" นพ.ยงยุทธกล่าว

ด้านนายพรชัย เมธาภรณ์พงศ์ ผอ.สำนักกฎหมาย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กล่าวว่า ก.พ.มีการปรับปรุงกฎ ก.พ.มาต่อเนื่อง โดยกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค ฉบับแรกเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2487 ฉบับล่าสุด พ.ศ.2553 จะมีการกำหนด 5 โรคต้องห้ามในการสมัครรับราชการ คือ 1.โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ 2.โรคเท้าช้างที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจ 3.โรคติดยาเสพติดให้โทษ 4.โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 5.โรคติดต่อร้ายแรงที่ปรากฏอาการเห็นชัดและกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดย ก.พ.เห็นว่า โรคเหล่านี้บังคับใช้มานานพอสมควรและปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น จึงเสนอให้ปรับปรุงให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงร่างกฎ ก.พ. ฉบับใหม่ ที่เกิดจากข้อแนะนำหลายหน่วยงาน ผ่านความเห็น ครม.ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย ก.พ.สอบถามความเห็นส่วนราชการทุกแห่ง เพื่อเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จากนั้นมีการกำหนดโรคที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มโรคทางกาย และกลุ่มโรคทางจิต

"ที่มีข้อแนะนำเยอะคือ โรคทางจิต เนื้อหาที่ปรากฏในร่างกฎ ก.พ. จะใช้คำว่า เป็นโรคจิต (cyclosis) และโรคอารมณ์ผิดปกติที่ปรากฏอาการเด่นชัด รุนแรงและเรื้อรังที่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่ง ก.พ.กำหนดเพิ่มในหลักเกณฑ์ตรวจร่างกาย อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการอื่นๆ ได้มีการกำหนดโรคจิตเวชไว้ในกฎการรับสมัครบุคลากร ดังนั้น ร่างกฎ ก.พ.นี้จึงไม่ใช่ฉบับแรกที่ออกมาในลักษณะนี้" นายพรชัยกล่าว

นายพรชัยกล่าวว่า ร่างกฎก.พ. ฉบับนี้ กำหนดห้ามเฉพาะบุคคลที่เป็นโรคจิตและอารมณ์ผิดปกติ ฉะนั้นกลุ่มจิตเวชอื่นๆ สามารถสมัครได้ตามปกติ เช่น โรควิตกกังวล ทั้งนี้ บุคคลต้องห้ามจะต้องมีอาการระหว่างรับการตรวจ ฉะนั้น ผู้ที่มีประวัติป่วยแต่หายแล้วขณะตรวจก็ไม่มีปัญหา เข้ารับราชการได้ ส่วนความกังวลในการพิจารณารับเข้างาน ต้องย้ำกลุ่มงาน HR หรือ ผู้บังคับบัญชาไม่มีอำนาจในการพิจารณาตัดสินว่าป่วยหรือไม่ แต่ต้องเป็นแพทย์พิจารณาเท่านั้น ก.พ. ไม่มีเจตนากีดกันผู้เข้ารับราชการ แต่ต้องการคัดกรองผู้ที่มีคุณภาพ ไม่ป่วยเป็นโรคที่เป็นอุปสรรคในการทำงาน


กำลังโหลดความคิดเห็น