xs
xsm
sm
md
lg

เปิดห้องตรวจ Telehealth Together รพ.พระนั่งเกล้า รักษา 3 โรคทางเดินหายใจออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดห้องตรวจ Telehealth Together รพ.พระนั่งเกล้า รักษาผู้ป่วย 3 โรคทางเดินหายใจ ทั้งโรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคภูมิแพ้ทางจมูก

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี นพ.พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เขตสุขภาพที่ 4 พร้อมด้วย พญ.ณิชาภา สวัสดิกานนท์ ผอ.รพ.พระนั่งเกล้า และ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดห้องตรวจ "Telehealth Together" โครงการคลินิกออนไลน์เพื่อสุขภาพดี จากความร่วมมือ บริษัท แกล็กโซสมิธไคลน์ (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) เครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย(EACC) และบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด

พญ.ณิชาภา กล่าวว่า รพ.พระนั่งเกล้าพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขานรับนโยบายการเป็นศูนย์การแพทย์ชั้นนำของ สธ. โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพการบริการสุขภาพรองรับวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Nomal) จึงได้ร่วมโครงการ "Telehealth Together" เปิดห้องตรวจ Telehealth Together ชั้น 12 อาคารศูนย์การแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า เพื่อให้การรักษาผู้ป่วย 3 โรค คือ โรคหืด โรคปอดอุดกั้น และโรคภูมิแพ้ทางจมูก ซึ่งมีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่อาจมีอาการรุนแรงขึ้น สามารถรับการรักษาได้อย่างต่อเนื่อง สะดวก รวดเร็ว โดยทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญให้บริการเสมือนมารักษาที่รพ. โดยไม่ต้องเดินทาง และความเสี่ยงในการต้องรับการรักษาในรพ. เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการสาธารณสุข ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

"วันนี้ เรามุ่งเน้นในผู้ป่วยในแผนกโรคทางเดินหายใจ เพื่อลงทะเบียนพบแพทย์ผ่าน Telehealth ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้ป่วย และดุลยพินิจแพทย์ ซึ่งในโอกาสหน้าอาจขยายไปที่แผนกอื่นเพื่อครอบคลุมโรคอื่นๆ รวมถึง คลินิกผู้ป่วยนอกในคลินิกของ รพ.พระนั่งเกล้าด้วย" พญ.ณิชาภา


ด้าน พญ.ประภัสสร เลิศจินดารัศมี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ กล่าวว่า ปัจจุบัน รพ.พระนั่งเกล้า มีผู้ป่วยใน 3 กลุ่มโรค เฉลี่ย 300-500 รายต่อปี โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ 2 ท่าน เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยก็ถือว่าเป็นภาระงานที่มาก เนื่องจากยังต้องดูแลผู้ป่วยโรคระบบหายใจอื่นๆ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคภูมิแพ้ตัวเอง วัณโรค เป็นต้น ดังนั้นการมีห้องตรวจ Telehealth Together ก็จะช่วยให้แพทย์สามารถแบ่งเวลาในช่วงที่ไม่ได้ออกตรวจผู้ป่วยนอก(OPD) และช่วง 4-6 ชั่วโมงที่รอผลการส่องกล้องปอด เข้ามาทำการตรวจผู้ป่วยในคลินิก Telehealth ได้

เบื้องต้นคลินิกจะเปิดให้บริการทุกวันพฤหัสบดี เวลา 13.00-16.00 น. ขณะนี้ได้เริ่มเปิดระบบมาประมาณ 1 สัปดาห์ มีผู้ป่วยลงทะเบียนแล้ว 5 ราย โดยผู้ป่วยจะต้องมีภาวะของโรคที่สามารถควบคุมได้ ไม่มีอาการหอบหืดกำเริบ และมีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยี โดยช่วงแรกที่ผู้ป่วยมาตามนัดที่ รพ. แพทย์จะทำการคัดกรองว่าผู้ป่วยรายใดสามารถทำ Telehealth ได้ ซึ่งในการกำหนดวันนัดครั้งต่อไป ก็จะลงทะเบียนพบแพทย์ผ่าน Telehealth และส่งยาทางไปรษณีย์

"โรคหอบหืดที่สามารถควบคุมได้ยังจะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง แต่จะใช้ให้น้อยที่สุด เพื่อลดโอกาสเกิดการกำเริบ ฉะนั้น ผู้ป่วยจะต้องไม่หยุดยาเอง โดยแพทย์จะติดตามอาการประมาณ 2 ปี พร้อมดูผลการเอกซเรย์ปอดปีละ 1 ครั้ง หากอาการคงที่และไม่มีอาการกำเริบ จึงจะสามารถสั่งให้หยุดยาได้" พญ.ประภัสสร กล่าว


ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ระบบเทเลเมดิซีนที่นำมาใช้นี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ต้องการขยายระบบบริการสุขภาพ ลดความแออัดใน รพ. และลดค่าใช้จ่ายของประชาชน โดย ปีงบประมาณ 2566 มีการใช้ระบบเทเลเมดิซีน 300,000 ครั้ง และเพิ่มงบดำเนินการให้ตกครั้งละ 50 บาท ซึ่งปี งบประมาณ 2565 มีการใช้กว่า 200,000 ครั้ง และให้งบดำเนินการกับทางโรงพยาบาล 30 บาทต่อครั้ง สำหรับการใช้ระบบนี้จะมุ่งเน้นในกลุ่มโรคเรื้อรัง ที่มีอาการคงที่ แต่ถ้าหากเกิดอาการเปลี่ยนแปลงสามารถกลับไปรับบริการได้ตามปกติ โดยทุกขั้นตอนของการดำเนินงานเห็นความสมัครใจและอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก




กำลังโหลดความคิดเห็น