รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจตุจักร เยี่ยมศูนย์ฯ BFC เขตจตุจักร ปรับภูมิทัศน์ถนนสวยกำแพงเพชร 2 ตรวจพื้นที่ทำการค้ากำแพงเพชร 4 ติดตามสวนจากภูผาสู่มหานที ชมต้นแบบการคัดแยกขยะ EnCo สำรวจสวนป่าประชานุกูล แก้จุดเสี่ยงภัยริมคลองเปรมฯ เช็คฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนซีแพคกำแพงเพชร 6
(25 ต.ค.65) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจตุจักร จำนวน 8 จุด ประกอบด้วย จุดที่ 1 ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารราชการฉับไวใสสะอาด (Bangkok Fast & Clear : BFC) เขตจตุจักร เป็นการพัฒนารูปแบบการให้บริการของกรุงเทพมหานคร โดยนำงานบริการของ 10 ฝ่ายในสำนักงานเขต ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายทะเบียน ฝ่ายโยธา ฝ่ายเทศกิจ ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายรายได้ ฝ่ายคลัง ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม มาให้บริการรวมกันที่จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มารับบริการและติดต่อราชการกับกรุงเทพมหานคร โดยแจ้งประเภทงานที่มารับบริการตรงจุดประชาสัมพันธ์ รับบัตรคิวจากตู้ BMA Q รอเรียกเข้ารับบริการตามประเภทงานของฝ่าย หรือนัดหมายล่วงหน้าผ่าน Application “BMA Q” ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามถึงปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน ระยะเวลาในการให้บริการ จำนวนประชาชนที่มาใช้บริการในแต่ละฝ่าย เพื่อนำไปปรับปรุงการบริการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดความพึงพอใจแก่ประชาชนที่มารับบริการ
จุดที่ 2 ปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสวย บริเวณเกาะกลางถนนกำแพงเพชร 2 ตั้งแต่แยก อตก.ถึงสถานีบริการน้ำมัน ปตท. ระยะทางประมาณ 1.5 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำสวนหย่อมบริเวณเกาะกลางถนน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบโดย SCG เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าวให้มีความสวยงามตามโครงการถนนสวย (ปลูกต้นไม้ 1 ถนน 1 เขต)
จุดที่ 3 ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้า บริเวณถนนกำแพงเพชร 4 ตรงข้ามสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ซึ่งเขตจตุจักร มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด บริเวณถนนกำแพงเพชร 4 ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ามิกซ์จตุจักรถึงทางเท้าลานจอดรถห้างเจเจมอลล์ เวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. มีผู้ค้า 40 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1.ถนนกำแพงเพชร 3 ตั้งแต่สน.ย่อยบางซื่อถึงทางตัดถนนกำแพงเพชร 4 มีผู้ค้า 11 ราย 2.หน้าห้าง TOP Supermarket ถึงถนนเทศบาลนิมิตเหนือ มีผู้ค้า 11 ราย 3.ปากซอยรัชดา 32 ถึงทางเข้ากรมส่งออก มีผู้ค้า 11 ราย 4.ปากซอยพหลโยธิน 24 ตั้งแต่ปากซอยพหลโยธิน 24 ถึงศูนย์บริการสาธารณสุข 51 มีผู้ค้า 8 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า รวมถึงพิจารณาปรับปรุงเต็นท์แผงค้าให้มีลักษณะและรูปแบบเดียวกัน
จุดที่ 4 ติดตามความก้าวหน้าสวนจากภูผาสู่มหานที ถนนกำแพงเพชร 3 สำหรับความเป็นมาของสวนจากภูผาสู่มหานที ภายในสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เนื่องด้วยพื้นที่บริเวณลานจอดรถ พื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเดิมมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ได้ให้เอกชนเช่าจัดทำโครงการตลาดนัด JJ-Green ต่อมาได้สิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ มูลนิธิฯ จึงมีความต้องการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นสวนป่ากลางกรุง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป โดยมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการว่าจ้าง บริษัท ฉมา โซเอน จำกัด เป็นผู้รับจ้างออกแบบโครงการ และได้ส่งมอบรูปแบบก่อสร้างให้แก่สำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อขอจัดสรรงบประมาณดำเนินการก่อสร้าง โดยแนวความคิดในการออกแบบ ได้น้อมพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ป่าของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และนำเอาแนวพระราชเสาวนีย์ “ปลูกป่าในใจคน” มาเป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบ โดยสวนแห่งนี้จะเป็นสถานที่เก็บรวบรวมพรรณไม้ต่างๆ จากทั่วประเทศ พรรณไม้ทรงปลูกในสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่พรรณไม้บนที่สูง จนถึงพรรณไม้ในที่ลุ่ม ตามแนวคิด “จากภูผาสู่มหานที” โดยเป็นการสร้างให้เกิดระบบนิเวศป่าที่สมบูรณ์ในพื้นที่โครงการ รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับฝึกอบรมสำหรับเยาวชนเกี่ยวกับการปลูกป่า เป็นพื้นที่พักผ่อน และเป็นสถานที่สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งสำนักสิ่งแวดล้อมได้จ้างเหมาบริษัท ทริโอ ไบรท์ จำกัด ดำเนินงานโครงการก่อสร้าง ลงวันที่ 11 มกราคม 2564 และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) ลงวันที่ 17 มีนาคม 2565 ระยะเวลาก่อสร้าง 540 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ระยะเวลา 540 วัน ปัจจุบันการก่อสร้างก้าวหน้าร้อยละ 66.40 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 31.60 คาดว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จประมาณเดือนธันวาคม 2565
จุดที่ 5 เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ หรือ EnCo ตั้งอยู่บนที่ดินประมาณ 29 ไร่ ย่านพหลโยธินนิคมรถไฟ กม. 11 บริเวณด้านหลังอาคารสำนักงานใหญ่ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งศูนย์ฯ ได้ดำเนินการคัดแยกขยะทุกประเภทแบบครบวงจร แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล ขยะย่อยสลาย ขยะอันตราย และขยะติดเชื้อ ภายในศูนย์ฯ มีโครงการต่างๆ เช่น โครงการแยกแลกยิ้ม ขวดแลกยิ้ม แก้วแลกยิ้ม โครงการวน พลาสติกคืนสุข การนำเศษอาหารมาแปรรูปเป็นดิน เขตฯ เข้าดำเนินการจัดเก็บทุกวันจันทร์-วันศุกร์ ปริมาณขยะประมาณวันละ 3 ตัน จัดเก็บโดยรถเก็บขนมูลฝอย ขนาด 5 ตัน
จุดที่ 6 สำรวจพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที สวนป่าประชานุกูล ตั้งอยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ใกล้แยกประชานุกูลเลียบคลองประปา เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 3 งาน เป็นพื้นที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยต่อสัญญาทุก 5 ปี (2563-2567) เขตฯ ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอด จัดทำแนวรั้วกั้นขอบเขตให้ชัดเจน ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำทางเดินออกกำลังกาย ซึ่งฝ่ายโยธาได้ปักหมุดเส้นทางเดินออกกำลังกายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเขตฯ ประสานศูนย์ก่อสร้างและบูรณะ 6 สำนักการโยธา ปรับปรุงภูมิทัศน์ภายในสวน รวมทั้งติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม
จุดที่ 7 ตรวจจุดเสี่ยงภัยบริเวณทางเดินริมคลองเปรมประชากร ติดกับชุมชนประชาร่วมใจ 2 จากการสำรวจพบว่าในพื้นที่เขตฯ มีจุดเสี่ยงภัย จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.คลองเปรมประชากร ชุมชนประชาร่วมใจ 2 2.คลองลาดพร้าว ตรงข้ามวัดสิริกมลาวาส 3.คลองลาดพร้าว หลังชุมชนหลัง วค.จันทรเกษม 4.สวนสาธารณะ วิภาวดี 5 ถนนวิภาวดีรังสิต (สวนป่าสัก) 5.สวนสาธารณะ วิภาวดี 18 ถนนวิภาวดีรังสิต (สวนวิภาภิรมย์) และ 6.บริเวณสะพานลอยหน้าวัดเสมียนนารี ถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนใหญ่ลักษณะทางกายภาพเป็นจุดอับ จุดเปลี่ยวลับสายตา ทั้งนี้ เขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจตราความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามจุดเสี่ยงภัย ติดตั้งตู้เขียว ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม ปรับภูมิทัศน์พัฒนาทำความสะอาดตัดแต่งต้นไม้ ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ตรวจตราความปลอดภัย
จุดที่ 8 ติดตามมาตรการป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 บริเวณแพลนท์ปูน บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (ซีแพค) ถนนกำแพงเพชร 6 ซึ่งในพื้นที่เขตจตุจักร มีแพลนท์ปูน จำนวน 5 แห่ง ดังนี้ 1.บริษัท น่ำเฮงคอนกรีต (1992) จำกัด ถนนกำแพงเพชร 6 2.บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (ซีแพค) ถนนกำแพงเพชร 6 3.บริษัท โออาร์ซี พรีเมียร์ จำกัด ถนนเทศบาลสงเคราะห์ 4.บริษัท เอ็ม คอนกรีต จำกัด ถนนพหลโยธิน และ 5.บริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด ถนนพหลโยธิน โดยเขตฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบสุขลักษณะของสถานประกอบการตามแบบตรวจประเมินสถานประกอบการ/โรงงาน และแบบตรวจประเมินด้านสุขลักษณะสถานประกอบการ ประเภทการผสมซีเมนต์ (แพลนท์ปูน) ของสำนักอนามัย พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมมลพิษอากาศ น้ำเสีย เสียง กากของเสีย รวมทั้งมาตรการด้านความปลอดภัย การตรวจวัดควันดำรถโม่ผสมคอนกรีต การล้างทำความสะอาดล้อรถยนต์ การพ่นฝอยละอองน้ำดักจับฝุ่นและเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับให้เขตฯ ตรวจประเมินแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น ไซต์งานก่อสร้าง แพลนท์ปูน อู่พ่นสี เพื่อป้องกันการปล่อยมลพิษในอากาศ ตามมาตรการในการป้องกันฝุ่นละออง PM 2.5 และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายพรเลิศ เพ็ญพาส ผู้อำนวยการเขตจตุจักร นายยงทวี โพธิษา ผู้อำนวยการสำนักงานสวนสาธารณะ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจตุจักร สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (ซีแพค) และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล