xs
xsm
sm
md
lg

คร.แจงใหม่ WHO ยังไม่ประกาศฉุกเฉิน "อีโบลา" เข้มคัดกรอง "ยูกันดา" หลังพบป่วยตายสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค แจงใหม่ WHO ยังไม่ประกาศ "อีโบลา" เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ เผยเริ่มพบการระบาดใน "ยูกันดา" 90 ราย ตาย 44 ราย อัตราตายสูง 49% เป็นสายพันธุ์ซูดานที่รุนแรงเป็นอันดับ 2 ย้ำไทยมีมาตรการคัดกรองเข้มคนมาจากยูกันดา

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกา เริ่มต้นช่วง ก.ย. 2565 โดยข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเทศยูกันดาและองค์การอนามัยโลก (WHO) เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยติดเชื้อในยูกันดาหลายเมือง จำนวน 90 ราย และเสียชีวิต 44 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 49 จำนวนนี้มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อ 11 ราย และเสียชีวิต 5 ราย การระบาดครั้งนี้เป็นการระบาดของไวรัสอีโบลาสายพันธุ์ซูดาน มีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 53 รองมาจากสายพันธุ์ซาอีร์ ที่อัตราป่วยตายเฉลี่ยร้อยละ 68

สำหรับการระบาดในครั้งนี้ แม้จำนวนผู้ป่วยยังไม่มากแต่เป็นที่จับตาอย่างใกล้ชิดโดยมีการยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมการระบาดในยูกันดาอย่างเข้มข้น จากการตรวจสอบข่าวพบว่า องค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้ประกาศให้การระบาดครั้งนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) แต่ปกติจะมีการประเมินสถานการณ์ระบาดเป็นระยะ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ก.ย. 2565 กรมควบคุมโรคได้ยกระดับมาตรการป้องกันที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เนื่องจากโรคอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยดำเนินการตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจากยูกันดา ทุกรายจะต้องได้รับการคัดกรองสุขภาพ และลงทะเบียน ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศก่อนเข้าประเทศไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น