กรมควบคุมโรค เข้มมาตรการด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิ แม้ WHO ยังไม่ประกาศ "อีโบลา" เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน เน้นคัดกรองคนเดินทางจาก "คองโก" ประเทศที่เสี่ยง
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินสถานการณ์การระบาดแล้วพบว่า ความเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ในประเทศซูดานขณะนี้ มีความเสี่ยงสูงที่จะแพร่กระจายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีการข้ามพรมแดนระหว่างยูกันดาและประเทศอื่นๆ โดยประชากรส่วนใหญ่เดินทางข้ามพรมแดนเพื่อไปค้าขาย นอกจากนี้ ประเทศยูกันดายังให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเพื่อรักษาสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายที่จะต้องเฝ้าระวังและดำเนินการอย่างเข้มข้น กรมควบคุมโรคติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่มีรายงานผู้ป่วยในช่วงที่ผ่านมา และเตรียมพร้อมทั้งการเฝ้าระวังป้องกันโรค ซึ่งขณะนี้ในไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยอีโบลา และยกระดับมาตรการที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ดังนี้ 1. ตรวจคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากประเทศคองโกทุกราย โดยตรวจวัดและลงบันทึกอุณหภูมิ แจ้งที่อยู่ที่ชัดเจนในไทย หมายเลขโทรศัพท์ วันเดือนปีสุดท้ายที่ออกจากคองโก
2. ผู้ที่เดินทางมาจากคองโก ภายใน 21 วัน ให้เขียนใบรายงานตัว และปฏิบัติตัวตามบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) พร้อมสังเกตอาการตนเอง 3. ผู้ที่เดินทางมาจากคองโก ภายใน 21 วัน เมื่อตรวจอุณหภูมิเกิน 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป พร้อมมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อ เหนื่อย เพลีย และมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือผู้สงสัยป่วยอีโบลา ให้แจ้งหัวหน้าด่านฯ สุวรรณภูมิ พิจารณาส่งต่อไปยังสถาบันบำราศนราดูร
4. กองโรคติดต่อทั่วไป ประสานเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ติดตามข้อมูลการคัดกรอง ผู้เดินทางจากคองโกทุกสัปดาห์ และประเมินสถานการณ์โรค และ 5. ให้เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ถ่ายสำเนาหน้าพาสปอร์ตที่ประทับตราเข้า-ออกประเทศ ในผู้ที่เดินทางมาจากคองโก ภายใน 21 วัน เพื่อความชัดเจนในการติดตามข้อมูลของทีมสอบสวนโรค
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคจะมีการให้ข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และสื่อสารไปยัง อสม.กรณีพบความผิดปกติ เช่น พบเห็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีการระบาดของโรค มีอาการไม่สบาย เป็นไข้ ให้รีบแจ้งมาที่กรมควบคุมโรค ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ยังไม่แนะนำให้จำกัดการเดินทางหรือการค้าระหว่างประเทศ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด ซึ่งได้ประเมินว่านักเดินทางระหว่างประเทศยังมีความเสี่ยงระดับที่ต่ำมาก เนื่องจากผู้ที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยตรงจากการสัมผัสกับของเหลวในร่างกายหรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน รพ. จากการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เข็มและหลอดฉีดยา) ที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงไม่มีการป้องกันเมื่อมีการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ติดเชื้อ
สำหรับผู้ที่จะเดินทางจากไทยไปยังประเทศที่มีการระบาดของอีโบลา ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ได้แก่ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่า ทั้งที่ป่วยหรือไม่ป่วย 2.หลีกเลี่ยงการรับประทานสัตว์ป่าที่ป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะลิงหรือค้างคาว หรืออาหารเมนูพิสดารที่ใช้สัตว์ป่าหรือสัตว์แปลกๆ 3.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น เลือดจากผู้ป่วย สิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยที่อาจปนเปื้อนกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย หรือศพ 4.หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หากจำเป็นให้สวมอุปกรณ์ป้องกันร่างกายและล้างมือบ่อยๆ 5.หากมีอาการเริ่มป่วย เช่น ไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย ภายหลังกลับจากประเทศที่ระบาด ให้รีบพบแพทย์ทันที