สสส. สานพลัง มศว. – จ.สระแก้ว ลงนาม MOU พัฒนาโมเดล “อ่าน อาน อ๊าน” ลด Learning Loss แก้ปัญหาเด็กอ่าน-เขียนไม่คล่อง หลังพบผลการเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ต่ำกว่าเกณฑ์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 2 และองค์การบริหารส่วนตำบลผ่านศึกจ.สระแก้ว ลงนาม MOU โครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนต้นแบบอ่านสร้างสุข : อ่าน เขียน เรียนรู้ อย่างมีความหมาย สมวัย และมีความสุข (อ่าน อาน อ๊าน) ลดภาวะ Learning Loss ที่ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 2 อาคารวิจัยและการศึกษาต่อเนื่อง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กรุงเทพฯ
นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สสส. กล่าวว่า เด็กปฐมวัยอายุ 0 - 6 ปี ประมาณ 4.2 ล้านคนในไทย เป็นช่วงวัยที่ระบบประสาทและสมองเติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์ จึงเหมาะสมต่อการวางรากฐานการเรียนรู้ และส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลับพบเด็กไทยส่วนใหญ่ล้มเหลวทางการเรียน จากความอ่อนแอทางภาษาและการอ่านขณะที่ผลการจัดอันดับทางการศึกษานานาชาติ เช่น โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติพื้นฐาน (O-Net) พบว่า คะแนนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย เด็กไทยได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งของเกณฑ์มาตรฐาน ชี้ให้เห็นประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนลดลงต่อเนื่อง
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้โลกการศึกษาเจอความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ หลายโรงเรียนปิดและเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ เป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนรู้ต่ำกว่าที่ควรเด็กบางคนหลุดออกนอกระบบ จากรายงานเรื่อง The state of the global education crisis: a path to recovery ของ UNESCO ร่วมกับ UNICEF และ World Bank ยังชี้ให้เห็นว่า ปัญหาร้ายแรงที่แฝงมากับการปิดโรงเรียน อาจกลายเป็นภารกิจใหญ่ ที่รัฐและผู้กำหนดนโยบาย ต้องเอาใจใส่ฟื้นฟูแก้ไขในระยะยาว นั่นคือ ภาวะสูญเสียการเรียนรู้ (learning losses) ของเด็กทั่วโลก ทำให้ สสส. โดย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จึงเร่งศึกษาโมเดลที่เหมาะสม เพื่อร่วมแก้ไขวิกฤติครั้งนี้” นางญาณี กล่าว