xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกันตนออกจากงาน รักษาสิทธิต่อเนื่อง รีบยื่นสมัครมาตรา 39

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ประกันตนมาตรา 33 เป็นหนึ่งในแรงงานสำคัญที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมจึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตให้แก่ผู้ประกันตนมาโดยตลอด ซึ่งครอบคลุมถึงสิทธิประโยชน์รอบด้าน โดยเฉพาะกรณีว่างงานที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 เท่านั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ความคุ้มครองนี้เมื่อถูกเลิกจ้าง ลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง โดยหากผู้ประกันตนออกจากงานแล้วไม่เกิน 6 เดือนและสมัครใจที่จะอยู่ในระบบประกันสังคมต่อไปจะต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 เพื่อรักษาสิทธิประกันสังคมให้คุ้มครองต่อเนื่อง

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า ผู้ที่ต้องการสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องเป็นบุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน ซึ่งผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิประโยชน์ 6 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33

สำหรับการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 39 นั้นจากเดิมปกติที่ผู้ประกันตนจะต้องนำส่งเงินสมทบทุกเดือน ในอัตราเดือนละ 432 บาท ซึ่งใช้ฐานการคำนวณเงินสมทบเดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (9% x 4,800) แต่ล่าสุดได้มีประกาศกฎกระทรวงลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 เหลือเดือนละ 240 บาท ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เพื่อเป็นการช่วยเหลือนายจ้างและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น


ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตนเมื่อตาย กลับเข้าเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 ลาออก ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน (สิ้นสภาพตั้งแต่เดือนแรกที่ไม่ส่งเงินสมทบ) หรือภายในระยะเวลา 12 เดือนส่งเงินสมทบมาแล้วไม่ครบ 9 เดือน (สิ้นสภาพในเดือนที่ส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน) ดังนั้น ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน หากเกินกำหนดต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน

ทั้งนี้ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ โดยผู้ประกันตนสามารถส่งเงินสมทบได้หลายช่องทางผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร/หน่วยบริการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เคาน์เตอร์โลตัส เคาน์เตอร์เซอร์วิส (เซเว่น-อีเลฟเว่น) ทุกสาขา เคาน์เตอร์ CenPay Powered by บุญเติม ผ่านระบบ Pay at Post ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ หรือชำระเงินสมทบโดยหักผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วน 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง Line ID: @ssothai และทางเว็บไซต์ www.sso.go.th

#Website: www.sso.go.th
#Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Instagram: sso_1506
#Twitter: @sso_1506
#YouTube: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
#Hotline: 1506 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
#LINE: @SSOTHAI
#TikTok: @SSONEWS1506








กำลังโหลดความคิดเห็น