กรมวิทย์แจงพบ "โควิด" สายพันธุ์ BQ.1 รายแรก ตรวจเจอตั้งแต่ปลาย ส.ค. แต่ GISAID จัดว่าเป็น BE.1.1 เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็น BQ.1 เมื่อ 18 ต.ค. หลังมีข้อมูลมากขึ้น ชี้เป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่ได้ปิดบังข้อมูล ชี้เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ต้องจับตา อัตราแพร่เร็ว แต่น้อยกว่า XBB ผู้ป่วยอาการไม่มาก หายดีนานแล้ว ย้ำสายพันธุ์ย่อยต่างๆ เป็น "โอมิครอน Family" ไม่มีหลักฐานว่ารุนแรง
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีข่าวพบโควิด 19 สายพันธุ์ BQ.1 เป็นรายแรกของไทย ว่า ข้อเท็จจริงๆ คือ คนไข้คนนี้เป้นชายต่างชาติอายุ 40 ปี เดินทางมาจากประเทศจีน เมื่อป่วยมารักษา รพ.แห่งหนึ่งใน กทม. ตั้งแต่ปลาย ส.ค. 2565 และไม่มีอาการอะไรมาก หายเป็นปกติดี ทาง รพ.จึงส่งตัวอย่างมาตรวจทางห้องปฏิบัติการและสุ่มตรวจสายพันธุ์ เราจึงส่งข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมไปยังฐานข้อมูลโลก GISAID ซึ่งตอนนั้นช่วง ก.ย. GISAID กำหนดว่าเข้าได้กับสายพันธุ์ BE.1.1 ซึ่งมาจากลูกหลานของ BA.5.3 แต่เมื่อมีข้อมูลมากขึ้น ดังนั้น วันที่ 18 ต.ค. GISAID จึงเพิ่งเปลี่ยนจาก BE.1.1 มาเป็น BQ.1
"เป็นหลักปกติ เมื่อเราส่งข้อมูลไปในถังกลางของโลกไม่มากพอ ตอนแรกอาจถูกกำหนดเป็นเชื้อชนิดหนึ่ง เมื่อมีข้อมูลมากพอก็อาจเปลี่ยนเป็นตัวอื่นได้ เพราะข้อมูลพวกนี้เป็นแบบไดนามิกว่า ตอนนั้นเข้ากับอะไรที่มีความรู้ เช่น ตอนแรกเป็น BE แต่พอมีคนส่งข้อมูลมามากขึ้น ก็อาจจะเห็นว่าไม่น่าใช่ เพราะมีบางส่วนที่ต่างออกไป คือ ตำแหน่ง N406K เมื่อมีแบบนี้เหมือนกันมากขึ้น จึงยกเป็นตัวใหม่ก็กลายเป็น BQ ทำให้เรียกชื่อเปลี่ยนไป ไม่ได้ปิดบัง เพราะสามารถดูสายเส้นทางการกลายพันธุ์ได้ อย่างก่อนหน้านี้ที่เราพบ BF.7 ก็เป็นการเปลี่ยนชื่อเช่นกัน" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับ BQ.1 อยู่ในหลายตัวที่องค์การอนามัยโลกให้จับตาดู ซึ่งจะดูจากอำนาจการแพร่กระจายเชื้อหรือว่ามีการโตเร็วแค่ไหน โดยขณะนี้สูงสุดตอนนี้คือ XBB ที่ห่วงมากที่สุด ต่อมาคือ BQ.1.1 เป็นลูกหลานของ BQ.1 อีกที ซึ่งประเทศไทยยังตรวจไม่พบ ต่อมาคือ BN.1 และ BQ.1 ฉะนั้น ขณะนี้ประเทศไทยที่มีคือ BF.7 BN.1 BQ.1 และ XBB นั้น ก็ถือว่า BQ.1 อาจแพร่เร็ว แต่ยังสู้ XBB ไม่ได้ ซึ่งเราพบ 2 รายแล้ว และ ผู้ป่วยที่เป็น BQ.1 ก็หายดีแล้ว เราคงต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องไป เราจะยังพบสายพันธุ์ที่เป็นแขนงออกไปเรื่อยๆ
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า มาตรการต้องเปลี่ยนไหมและหน้าหนาวน่ากังวลหรือไม่นั้น หน้าหนาวมาโอกาสคนเราเป็นหวัดหรือมีการแพร่เชื้อจะเยอะขึ้น แต่ถ้าเรายังป้องกันโดยใส่หน้ากาก ล้างมืออย่างเข้มงวด ไม่หย่อนเกินไป และร่วมกับฉีดวัคซีนกันมากพอสมควรก็จะช่วยให้ประเทศไทยไม่มีปัญหามากนัก เพราะอย่างสิงคโปร์ที่ระบาดมากขึ้น ก็มีการเลิกใส่หน้ากาก หรืออย่างอินเดีย และยุโรป ส่วนญี่ปุ่นเมื่อระบาดเยอะๆ ก็กลับมาใส่หน้ากากมากขึ้น วันนี้คิดว่าถ้าคนไทยจะไปที่ชุมนุมชนก็ใส่หน้ากากไว้ ล้างมือบ่อยๆ ก็จะช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย ทั้งนี้ การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ทุกวันนี้ยังยืนยันว่า สายพันธุ์ต่างๆ ที่ออกมา เช่น BQ.1 XBB หรืออะไรก็ตาม ยังเป็นตระกูลโอมิครอน ยังไม่มีหลักฐานอะไรว่ารุนแรงมากขึ้น อาจจะป่วยมากขึ้นได้ แต่ไม่ค่อยมีอาการ หรืออาจไม่มีอาการอะไรด้วยซ้ำ ที่ทราบยังไม่มีใครเสียชีวิตจากสายพันธุ์ที่เราเจอ
ถามต่อว่าเรามีการนำเชื้อที่พบมาดูว่าหลบภูมิคุ้มกันมากน้อยแค่ไหน นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เราจะเอาตัวอย่างมาเพาะให้ขึ้น ซึ่งบางตัวอย่างอย่างกรณี BQ.1 ตัวอย่างมาตอนปลาย ส.ค. เชื้ออาจจะตายแล้ว ถ้ายังเพาะได้ ก็จะได้ตัวเป็นๆ มา เราก็จะเอามาดูว่าวัคซีนที่เราฉีดวัยคลุมมากแค่ไหน แต่ยากตรงที่เราต้องแทงให้ถูกว่าตัวไหนจะเป็นตัวหลัก ถ้าดูตามจำนวนก็จะแทง XBB ก่อน เพราะคิดว่าแพร่เร็วพอสมควรจะเอาตัวนี้ก่อน ถ้าไปแทงผิดเป็นตัวที่ไม่ค่อยมีอำนาจแพร่กระจายมาก เมื่อหายไปก็จะกลายเป็นทำเสียเปล่า เราจะเอาตัวที่คาดการณ์ว่าจะมีเยอะแล้วมาแทน BA.5
ถามว่ามีนัยสำคัญอะไร รพ.เอกชนถึงส่งมาตรวจสายพันธุ์ นพ.ศุภกิจกล่าวว่า รพ.เอกชนหลายแห่งที่รับชาวต่างชาติป่วยใน รพ. ส่วนหนึ่งส่งมาให้เรา ซึ่งข้อสำคัญที่เราตรวจพบเพราะเราไม่ได้ถอยการตรวจเฝ้าระวังการถอดรหัสพันธุกรรม เรายังทำสัปดาห์ละ 300 ราย แต่ข้อมูลที่เราตรวจจะเข้าเครื่องพร้อมกันอาจจะดีเลย์ 1 สัปดาห์ ข้อมูลได้มาก็วิเคราะห์อีกหลายวันเสร็จถึงส่ง GISAID ทาง GISAID ก็ต้องรอวิเคราะห์ร่วมข้อมูลอื่นๆ ตอนนี้เราขอให้ รพ.ขนาดใหญ่ที่มีคนไข้ คือ ฉีดวัควีนแล้วยังเป็น อาการหนัก มาจากชายแดน ชาวต่างชาติในประเทศที่มีปัญหา เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ถ้ามีอาการป่วยให้ส่งมาตรวจ ที่เราเจอ XBB ก็เจอต่างชาติและคนไทยกลับมาจากสิงคโปร์ ระบบที่เราดักไม่ได้หลวมอะไรมาก