บัตรทองเผย 18 ปี ช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ป่วยรับความเสียหายเกือบ 1.4 หมื่นราย รวม 2,622 ล้านบาท เป็นกรณีเสียชีวิต/ทุพพลภาพถาวร 7,210 ราย สูญเสียอวัยวะ/พิการ 1,902 ราย บาดเจ็บ/รักษาต่อเนื่อง 4,801 ราย ปี 65 ช่วยเหลือสูงสุด
เมื่อวันที่ 18 ต.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ภาวะไม่พึงประสงค์จากการรับบริการทางการแพทย์ย่อมเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีมาตรการรองรับ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อการเข้ารับบริการและดูแลช่วยเหลือเบื้องต้น พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 จึงกำหนดให้บอร์ด สปสช.กันเงินไม่เกินร้อยละ 1 ของเงินที่จ่ายให้กับหน่วยบริการเป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2547 มีจำนวน 73 ราย เป็นเงินช่วยเหลือ 4.86 ล้านบาท ภาพรวมตั้งแต่ปี 2547–2565 หรือ 18 ปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้น 13,913 ราย เฉลี่ยปีละ 773 ราย เป็นกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร 7,210 ราย สูญเสียอวัยวะหรือพิการ 1,902 ราย และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 4,801 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,622.75 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 145.71 ล้านบาท โดยปี 2565 มีผู้ที่ได้การช่วยเหลือเบื้องต้นสูงสุด 1,140 ราย และเป็นปีที่จ่ายเงินช่วยเหลือสุดสุด 297.32 ล้านบาท
“จะเห็นว่ากลไกการช่วยเหลือแต่ละปีมีจำนวนไม่มาก รวมถึงงบประมาณที่จ่ายไป แต่ได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ป่วยและครอบครัว ทั้งยังได้รับการยอมรับ โดยในช่วงโควิดถูกนำไปเป็นต้นแบบการช่วยเหลือผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีน มีส่วนผลักดันพัฒนาให้ระบบหลักประกันสุขภาพฯ มีคุณภาพและมาตรฐานยิ่งขึ้น” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ช่วงแรกเริ่มจ่าย 3 กรณี คือ เสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ไม่เกิน 200,000 บาท, สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ไม่เกิน 120,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 50,000 บาท ต่อมาวันที่ 1 ต.ค. 2555 ปรับเพิ่มจำนวนจ่ายเงินช่วยเหลือ โดยเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ตั้งแต่ 100,000 บาท แต่ไม่เกิน 240,000 บาท และบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง ไม่เกิน 100,000 บาท