ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติ เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข หารือความเป็นไปได้ใช้น้ำช่องนนทรีช่วยไล่น้ำเค็มพื้นที่บางกะเจ้า หวังฟื้นฟูแหล่งอาหารใกล้กรุง
(11 ต.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสมาคมเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติ เพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อหารือเกี่ยวกับโครงการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ กทม. กับพื้นที่บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ โดยมี นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางวาสนา ศิลป์เบ็ญจพร รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ รศ.ดร.เสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ หัวหน้าโครงการการจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมในพื้นที่สีเขียวบางกระเจ้า ผู้แทนชุมชนบางกะเจ้า และเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ ร่วมประชุม ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า เขตพระนคร
สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการหารือความเป็นไปได้ในการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ กทม. กับพื้นที่บางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ โดยเฉพาะการขอใช้ประโยชน์จากน้ำจืดที่บำบัดแล้ว ที่ปล่องทิ้งลงแม่น้ำเจ้าพระยาทางช่องนนทรีให้ไปเจือจางน้ำเค็มที่ชุมชนบางกะเจ้า (ผ่านท่อระบายน้ำที่เชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ) เพื่อให้ได้น้ำจืดที่ใช้ประโยชน์ในทางการเกษตรได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาพื้นที่สีเขียวแห่งนี้ให้อยู่รอดจากการรุกรานของน้ำเค็มในฤดูแล้ง อันจะเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงเทพฯ และส่วนร่วมต่อไป รวมทั้งเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำให้คุ้มค่า ให้ได้ประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในการใช้น้ำที่เป็นทิศทางการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า พื้นที่บางกะเจ้า มีพื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ ที่เป็นพื้นที่สีเขียว ปัญหาที่ชุมชนบางกะเจ้า คือ เรื่องน้ำเค็ม ซึ่งทำให้พื้นที่บางกะเจ้าไม่สามารถทำการเกษตรได้ เนื่องจากน้ำเค็มเข้ามามาก จนทำให้การเกษตรหายไป โดยทางชุมชนมองว่า กทม. มีโรงบำบัดน้ำเสียช่องนนทรี มีการบำบัดน้ำเสียวันละประมาณ 100,000 ลิตร และมีค่าความเค็ม (Salinity) ประมาณ 2.6 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งน้อยกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความเค็ม 4 มิลลิกรัม จึงต้องศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้น้ำที่บำบัดจากโรงบำบัดน้ำช่องนนทรีที่อยู่ตรงข้ามกับบางกะเจ้า โดยการน้ำไปใช้เป็นต้นทุนทางการเกษตรให้กับบางกะเจ้าได้หรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาว่า กทม.มีโครงการระยะยาวในการนำน้ำเสียจากการบำบัดแล้วที่ช่องนนทรีย้อนกลับไปฟลัช (Flush) หรือนำไปทำความสะอาดคลองช่องนนทรี คลองไผ่สิงโต รวมถึงคลองหัวลำโพง เพื่อให้เกิดความสะอาดมากขึ้น นอกจากนี้ จะต้องพิจารณาเรื่องการลงทุน เพราะการจะนำน้ำลอดแม่น้ำเจ้าพระยาไปเพื่อไปเติมให้ในคลองบางกะเจ้านั้น จะต้องมีการลงทุนทั้ง 2 ส่วน ได้แก่ เงินลงทุนในการสร้างระบบ กับเงินลงทุนในการดำเนินงานการเอาท่อลงไปและสูบขึ้นมา และความคุ้มทุนต่าง ๆ
“ทางเราก็มีความยินดี เนื่องจาก กทม. ได้รับประโยชน์จากบางกะเจ้าเยอะ ในแง่ของพื้นที่สีเขียว การเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ทำอย่างไรที่เราจะร่วมมือกันได้ ซึ่งทางเราก็ยินดี แต่ขอไปศึกษารายละเอียดก่อน ลองดูว่ามีวิธีอื่นไหม ที่จะร่วมมือกันได้อย่างไร วันนี้เป็นการหารือเบื้องต้นก่อน ต้องขอบคุณชาวบางกะเจ้า ผมเคยไปวิ่งออกกำลังกาย เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ดี บางกะเจ้าเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งอาหารให้เราได้ เป็นทั้งแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับชาวกรุงเทพฯ ทั้งโอโซนต่าง ๆ ซึ่งทำให้กรุงเทพฯ มีภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น มีพื้นที่สีเขียวที่อยู่ประชิดเมือง สุดท้ายก็ต้องดูภาพรวมว่า น้ำที่บำบัดได้เป็นอย่างไร เงินลงทุนในการทำโครงสร้างเป็นอย่างไร ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และผลประโยชน์ที่ได้ ได้แค่ไหน ค่าใช้จ่ายแพงไหม ต้องลงไปดูอีกครั้งหนึ่ง” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
รศ.ดร.เสาวลักษม์ กล่าวขอบคุณท่านผู้ว่าฯ และเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารของ กทม. ที่เห็นความสำคัญและรับฟังข้อเสนอของทางบางกะเจ้า และสนับสนุนที่จะศึกษาต่อความเป็นไปได้ โดยหวังว่าจะได้มีความร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำมีคุณภาพที่ดีขึ้นในพื้นที่บางกะเจ้า ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ เป็นสิ่งแวดล้อมที่ใช้ร่วมกัน
ทั้งนี้ โครงการการจัดการน้ำโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่คุ้งบางกระเจ้า ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 ภายใต้เครือข่ายงานวิจัยนานาชาติเพื่อสังคมอยู่เย็นเป็นสุข โดยร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาน้ำมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ทำโครงการต่อยอดเรื่อง การหารือเชิงนโยบายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ ซึ่งพื้นที่สีเขียวบางกะเจ้า ถูกขนานนามว่าเป็นปอดของกรุงเทพฯ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เนื่องจากลมจากอ่าวไทยจะพัดนำเอาออกซิเจนจากพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่แห่งนี้ ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปอดในเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย เข้ามายังพื้นที่กรุงเทพฯ ถึงปีละ 9 เดือน จึงมีส่วนช่วยเพิ่มคุณภาพอากาศของกรุงเทพฯ แต่ขณะนี้ พื้นที่แห่งนี้ประสบความเสี่ยงในเรื่องน้ำหลายประการ ซึ่งจะส่งผลต่อการลดลงของพื้นที่สีเขียว จึงมีการร่วมกันแสวงหาทางออกที่เป็นไปได้ในการที่จะช่วยกันรักษาพื้นที่สีเขียวแห่งนี้