ปลัด สธ.เผย "อุบลธาชธานี" น้ำท่วมยังสูงต่อเนื่อง เตรียมพร้อมป้องกัน รพ.สรรพสิทธิประสงค์ พ่วงแผนลำเลียงทางอากาศหากน้ำเข้าท่วม "ร้อยเอ็ด" น้ำท่วมยังเพิ่มสูงเช่นกัน ออกหน่วยตรวจรักษาบ้านดอนโม่งแล้ว หลังน้ำท่วมกว่า 3 สัปดาห์และต้องการยา ย้ำหญิงท้อง แม่ให้นมลูก กินอาหาร-น้ำจากของบริจาค เน้นสะอสด ให้นมลูกต่อเนื่องสร้างภูมิคุ้มกันลูก
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ขณะนี้ยังมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 25 จังหวัด สถานบริการได้รับผลกระทบ 181 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 1 แห่ง รพ. 13 แห่ง สาธารณสุขอำเภอ 8 แห่ง รพ.สต. 154 แห่ง และ ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน (ศสม.) 5 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 131 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 27 แห่ง ปิด/ย้ายจุดบริการ 23 แห่ง โดยปรับรูปแบบไม่ให้กระทบต่อการบริการ จัดส่งทีมปฏิบัติการเชิงรุกให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง 482 ทีม ให้บริการเยี่ยมบ้าน ตรวจรักษา แจกยาชุดน้ำท่วม รวม 82,155 ราย ประเมินคัดกรองสุขภาพจิต 23,315 ราย พบภาวะเครียด 3,194 ราย ภาวะซึมเศร้า 201 ราย และภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10 ราย ให้การดูแลแล้ว
ส่วนสถานการณ์ของอุบลราชธานี ขณะนี้ปริมาณน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สสจ.อุบลราชธานีส่งทีมแพทย์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 9 อำเภอแล้ว พร้อมแจกจ่ายยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 20,000 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 3,000 หลอด ให้บริการจัดส่งยาผู้ป่วยโรคเรื้อรังถึงบ้าน 200 คน ให้ได้รับยาต่อเนื่อง สถานบริการรับผลกระทบ 8 แห่ง ขนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ครุภัณฑ์ ไว้ในที่ปลอดภัยแล้ว มี 4 แห่งที่ต้องปิดให้บริการ และย้ายไปตั้งจุดบริการในหมู่บ้าน, วัด, สนามกีฬา และสถานีบริการน้ำมัน ส่วนที่มีภาพเจ้าหน้าที่ของ รพ.สรรพสิทธิประสงค์ช่วยกันขนกระสอบทราย ผอ.รพ.รายงานว่า เป็นการเตรียมการป้องกันถังเก็บน้ำของ รพ.ไม่ให้ได้รับความเสียหายและไม่ให้กระทบบริการ ขณะนี้ รพ.ยังให้บริการได้ตามปกติ เพียงแต่กำหนดจุดทางเข้าออก รพ.ใหม่ เตรียมแผนลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศหากเกิดน้ำท่วมใน รพ. โดยประสานกองพันทหารอากาศโยธิน กองบิน 21 อุบลราชธานี
นพ.โอภาสกล่าวว่า สำหรับร้อยเอ็ดสถานการณ์น้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง มีสถานบริการรับผลกระทบ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.บ้านดอนสัมพันธ์ รพ.สต.บ้านเกาะแก้ว และ รพ.สต.ศรีสว่าง ยังเปิดให้บริการได้บางส่วน สสจ.ร้อยเอ็ดจัดทีมออกให้บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป เยี่ยมบ้าน จ่ายยา และล้างแผลให้กับผู้ป่วยที่ไม่สามารถเดินทางมารับบริการได้ มอบยาชุดผู้ประสบภัยให้ 8 อำเภอแล้ว 500 ชุด ชมรมเภสัชกร แพทย์แผนไทย รพ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ร่วมกันผลิตสมุนไพรรักษาน้ำกัดเท้าแจกจ่ายประชาชน ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์จากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 และศูนย์อนามัยที่ 7 อาทิ รองเท้าบูทแบบสั้นและแบบยาว, สารส้ม, ส้วมเก้าอี้, ยาสามัญประจำบ้าน และยาทากันยุง เป็นต้น ส่วนที่มีข่าวว่าชาวบ้านบ้านดอนโมง ต.ท่าหาดยาว อ.โพนทราย จ.ร้อยเอ็ด ได้รับผลกระทบ
น้ำท่วมนานกว่า 3 สัปดาห์และต้องการยาน้ำกัดเท้าและยาสามัญประจำบ้านนั้น รอง นพ.สสจ.ร้อยเอ็ด สสอ.โพนทราย และเจ้าหน้าที่ รพ.โพนทราย ได้ลงพื้นที่ออกหน่วยตรวจรักษาโรคและคัดกรองสุขภาพจิตที่บ้านดอนโมง หมู่ 3 และหมู่ 5 มีผู้เข้ารับบริการ 50 ราย แจกจ่ายยาสามัญประจำบ้าน 282 หลังคาเรือน
"ส่วนกลางสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ให้พื้นที่ที่ได้รับกระทบ ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ 11,900 ชุด ชุดเวชภัณฑ์ป้องกันควบคุมโรคในภาวะฉุกเฉิน 8 รายการ 2,400 ชุด และรองเท้าบูท 2,304 คู่ และจัดสรรงบประมาณให้เขตสุขภาพจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแจกจ่ายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ประสบภัยในพื้นที่อย่างรวดเร็ว" นพ.โอภาสกล่าว
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่กำลังให้นมลูกในช่วงน้ำท่วม ควรมีการดูแลสุขภาพตนเองและลูกควบคู่กันไป โดยกินอาหารและน้ำที่ได้รับจากการบริจาคหรืออาหารปรุงสุกจากการแจกจ่ายสำหรับผู้ประสบภัยให้ครบทุกมื้อและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย แม่ที่ให้นมลูกควรให้ลูกกินนมแม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุด ประกอบด้วยสารอาหารที่จำเป็นเหมาะสมตามช่วงวัยและมีภูมิคุ้มกันโรค ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย เพราะนมแม่สะอาด ไม่ต้องผ่านอุปกรณ์หรือมีขั้นตอนในการเตรียมใดๆ ส่วนกรณีทารกไม่กินนมแม่แล้ว ควรเลือกกินนมผสมที่เหมาะสมกับช่วงวัย ระมัดระวังเรื่องการเตรียมนมให้ได้ตามสัดส่วนที่ระบุบนฉลาก และให้ความสำคัญเรื่องความสะอาดเป็นพิเศษ ล้างมือให้สะอาดก่อนชงนม และควรชงด้วยน้ำสะอาดเท่านั้น เช่น น้ำขวดที่มีเครื่องหมาย อย. หรือน้ำต้มสุก และทำความสะอาดอุปกรณ์หลังลูกดื่มนม
ส่วนเด็กที่ไม่สบาย เช่น มีไข้ ไข้หวัด ท้องเสีย เป็นภูมิแพ้ ควรปรึกษาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ สำหรับแม่ที่อยู่ในศูนย์พักพิง ควรมีการจัดเตรียมพื้นที่และอุปกรณ์สำหรับเตรียมนมผสมสำหรับทารกและเด็กเล็ก นอกจากนี้ แม่ต้องพยายามโอบกอดลูกและเล่นกับลูกบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ลูกสบายใจที่มีแม่คอยปกป้องดูแล และช่วยลดความตึงเครียดของลูกลงด้วย