xs
xsm
sm
md
lg

เด็กถูกจีบในโลกออนไลน์เพียบ 10 ขวบเจอกรูมมิ่ง ตร.แฉแทคติคหลอกอัดคลิปโป๊

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เด็ก 36% ถูกจีบในโลกออนไลน์ พบ 10 ขวบถูกกรูมเข้าหาเพื่อละเมิดทางเพศถึง 12% ขณะที่เด็ก 4% เคยไลฟ์หวิว ตร.แฉแทคติคคนร้ายหลอกอัดคลิปโป๊ ข่มขู่ทางเพศ รัดทรัพย์

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ่ กทม. ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม นักจิตวิทยาคลินิก พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รอง ผบช.กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีค้ามนุษย์และคดียาเสพติด กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลสำรวจสถานการณ์เด็กกับภัยออนไลน์ 2565 และเสวนาพอกันทีกรูมมิ่ง : Child Grooming ล่อลวงเด็กออนไลน์ ภัยร้ายที่ต้องจบ จัดโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


ดร.ศรีดา กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่าง พ.ค. - ก.ค. 2565 กลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี 31,965 คน พบว่า เด็ก 81% มีแท็บเล็ตหรือสมาร์ทโฟนของตัวเอง 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน โดยการมีสมาร์ทโฟนของตัวเองและใช้สื่อโซเชียลหรือเล่นเกมอย่างหนักหน่วง อาจเพิ่มความเสี่ยงภัยออนไลน์มากขึ้นถึง 40% มีข้อมูลน่าตกใจว่า เด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม คนร้ายอาจพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปข่มขู่แบล็กเมล ซึ่งเข้าข่ายพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming) ที่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายต้องระวัง

ทั้งนี้ เด็กประถมปลายอายุประมาณ 10 ขวบ ถูกกรูม (groom) ถึง 12 % ขณะที่ เด็ก 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร จำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เด็ก 7% เซฟเก็บไว้ ซึ่งเพศชายทำมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า ซึ่งการครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เด็ก 4% ยังระบุว่าเคยถ่ายภาพหรือ live โชว์ลามกอนาจาร เด็ก 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเมนต์เรื่องรูปร่างหน้าตา ขนาดหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ เด็ก 15% เคยทำ sex video call ซึ่งเด็ก ป.4-6 จำนวน 4% ระบุเคยถูกคุกคามทางเพศ และ 7% เคยแลกกล้องโชว์สยิว

"น่าห่วงว่าเด็กอาจถูกอัดคลิปแล้วนำไปแบล็กเมลรีดทรัพย์หรือนัดพบละเมิดเพิ่ม นำไปสู่ปัญหาซึมเศร้าและอาจฆ่าตัวตายในที่สุด การสำรวจนี้พบเด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย/อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน และมี 5% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล เด็กยังประสบปัญหาภัยออนไลน์อื่นๆ ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกติดตามคุกคาม หลอกให้ลงทุนผลตอบแทนสูง หรือโดนโกงซื้อสินค้า ซึ่งมูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ ได้รวบรวมสถิติข้อมูลและคำแนะนำไว้ในเอกสารแนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2565 ในรูปแบบของสิ่งพิมพ์และดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ต" ดร.ศรีดากล่าว


ผศ.ดร.สมบัติ กล่าวว่า คนไข้จำนวนมากต้องทุกข์กับความทรงจำเลวร้ายที่รบกวนจิตใจไปตลอดชีวิต ส่งผลต่อการเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์ บางคนนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า พยายามฆ่าตัวตาย บางคนมีปัญหาการควบคุมอารมณ์ เช่น โมโหร้าย ก้าวร้าว สืบทอดความรุนแรงให้กับคนอื่นๆ ต่อไป หลายคนพยายามจัดการปัญหาด้วยการใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท สุรา และยาเสพติด นำไปสู่ปัญหาการเสพติด และพบว่าคนไข้หลายคนแม้เข้าสู่วัยสูงอายุ แต่ยังทุกข์จากการถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ หากคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียต่อสังคมคือมหาศาล แม้ศูนย์พึ่งได้ที่บำบัดรักษาผู้ป่วยจะมีเกินหมื่นแห่งทั่วประเทศ เชื่อว่าไม่ทำให้ปัญหาลดลง จึงเสนอให้ทำกฎหมายรองรับช่วยดำเนินคดีกับผู้ที่เริ่มมีพฤติกรรมการล่อลวงเด็กด้วยวัตถุประสงค์ทางเพศ (grooming) โดยไม่ต้องรอจนเกิดการ “ลงมือ” หรือ “ล่วงละเมิดทางเพศ”


พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าวว่า การแอบถ่ายคลิปโป๊เปลือยกิจกรรมทางเพศแล้วนำไปข่มขู่กรรโชกทางเพศ (sextortion) บางทีทำโดยแฟนเก่า หรือเด็กสาวหลงกลเพื่อนใหม่ออนไลน์ที่เป็นพวกล่อลวง คนร้ายมักเริ่มด้วยการเข้ามาขอเป็นเพื่อนผ่านช่องทางต่างๆ ชวนทำกิจกรรมทางเพศผ่านทางออนไลน์ เช่น แลกกล้อง โชว์หวิว คนร้ายมักเป็นฝ่ายเริ่มโชว์ก่อนเพื่อให้เหยื่อหลงกลและทำตามโดยง่าย เมื่อเหยื่อทำตาม เช่น เปิดเผยเนื้อตัว อวัยวะปกปิด เต้นยั่วยวน โชว์วาบหวิว หรือสำเร็จความใคร่ คนร้ายจะบันทึกภาพวิดีโอแล้วนำมาขู่ว่าจะเผยแพร่ แลกกับการส่งคลิปใหม่หรือเรียกโอนเงินค่าไถ่ หลายครั้งเหยื่อกลัวเสื่อมเสียชื่อเสียง จึงยอมทำตาม แต่การขู่กรรโชกมักไม่จบสิ้น คนร้ายมักเรียกร้องเพิ่มมากขึ้น ไปจนถึงนัดพบและบังคับให้เหยื่อยอมมีอะไรด้วย แน่นอนว่าหากเหยื่อหลงเชื่อก็จะนำไปสู่การสูญเสียที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพหลุดมากขึ้น เสียชื่อเสียง เสียเงิน เสียตัว ซ้ำร้ายอาจถูกอัดคลิปโดนข่มขืนกระทำชำเราหรืออะไรที่ร้ายแรงกว่าเดิม เกิดความเสียหายทางจิตใจ คือ การที่เหยื่อรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ทำผิด ถูกประจาน เกิดความหวาดระแวง และเกิดบาดแผลขึ้นในจิตใจ

“การป้องกันกรูมมิ่งและขู่กรรโชกทางเพศ ทำได้ตั้งแต่พิจารณาเลือกรับเพื่อนออนไลน์ ให้ระมัดระวังการถูกหลอกลวง แม้จะเป็นเพื่อนของเพื่อน ก็ควรตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ เป็นเพื่อนจริงๆ หรือไม่ เมื่อรับเพื่อนแปลกหน้าแล้ว การพูดคุยและส่งรูปอะไรควรคิดให้รอบคอบ ไม่ควรส่งภาพส่วนตัวไปให้ใครดูทางออนไลน์ เพราะต่อให้เป็นเพื่อนรักหรือคนรักกัน วันหนึ่งเมื่อเลิกราหรือทะเลาะกัน คลิปหรือรูปภาพส่วนตัวก็อาจถูกนำมาแฉได้ทุก เมื่อจะไม่ได้เป็นมิจฉาชีพก็ตาม” พล.ต.ต.นิเวศน์ กล่าว


ร.ต.อ.เขมชาติ กล่าวว่า ย้อนหลังไป 10 ปี การทราบว่ามีเหตุการณ์ละเมิดทางเพศเด็กหรือไม่ ต้องใช้ข้อมูลจากการถามปากคำเด็กที่เป็นผู้เสียหาย ซึ่งข้อเท็จจริงที่ทราบจากตัวเด็กสอดคล้องไปทางเดียวกันคือ ก่อนถูกละเมิดทางเพศจะมีพฤติกรรมสร้างความเป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจ (Grooming) ก่อนเสมอ เพื่อล่วงละเมิดทางเพศภายหลัง อาจมีเทคนิคแตกต่างกัน แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ละเมิดทางเพศเด็ก เพราะปัจจุบันอาชญากรใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือติดต่อสื่อสารล่อลวงเด็ก ประกอบกับเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายมักไม่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือบุคคลใกล้ชิดฟัง กว่าจะรู้ก็เกิดความเสียหายอันตรายถึงชีวิต เหมือนในข่าวหลายกรณีที่เด็กฆ่าตัวตายเพื่อยุติปัญหา บุคลากรที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน จึงมีจุดเปลี่ยนในการเริ่มเปิดคดี จากเดิมใช้ข้อมูลจากการถามปากคำเด็กเป็นหลัก ปัจจุบันเป็นพยานหลักฐานจากการใช้สื่อออนไลน์ แต่ปัญหาใหญ่คือ ประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายที่บัญญัติว่าการกรูมมิ่งเป็นความผิด จึงไม่สามารถนำกฎหมายมาใช้บังคับเพื่อการป้องกันได้


กำลังโหลดความคิดเห็น