ปลัด สธ.แจงยังติดตามเฝ้าระวัง "โควิด" ต่อเนื่อง ทั้งใน รพ. คลัสเตอร์ พื้นที่เสี่ยง/กลุ่มเสี่ยง และสายพันธุ์ ยังไม่พบสายพันธุ์ที่ระบาดง่าย หลบภูมิหรือรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้บังคับใส่หน้ากากแล้ว ให้ดูตามเหมาะสม ขอมาฉีดวัคซีนต่อเนื่องเน้นกลุ่ม 608 ส่วนฉีดเด็ก 6 เดือนขึ้นไปพร้อมแล้ว กำลังกระจายวัคซีนลงพื้นที่
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์โควิด 19 หลังประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่า สธ.ยังติดตามสถานการณ์ต่อเนื่องใน 4 ระบบเฝ้าระวัง ได้แก่ ระบบเฝ้าระวังใน รพ. , เฝ้าระวังการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ , ตามพื้นที่หรือกลุ่มเสี่ยง (Sentinel Surveillance) และเฝ้าระวังสายพันธุ์เชื้อดื้อยา ทั้งนี้ ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อ ผู้ที่นอนใน รพ. ผู้ที่มีอาการหนัก มีจำนวนลดลง ผู้เสียชีวิตเฉลี่ย 10 รายต่อวันลดเหลือ 8 ราย ถือเป็นสัญญาณที่ดี ขณะเดียวกันการเฝ้าระวังเรื่องการป้องกันตัวของประชาชน พบว่า การสวมหน้ากากอนามัยลดลง แต่ยังมีการสวมในที่ชุมชนอยู่
“ขณะนี้เราบังคับใครใส่หน้ากากไม่ได้แล้ว ขอให้พิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 ต้องรณรงค์ต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง รวมถึงเข็มกระตุ้นที่มีความจำเป็น กรมควบคุมโรคจะดำเนินการเรื่องนี้ เราติดตามสายพันธุ์โควิดทั่วโลก ยังไม่พบสายพันธุ์ที่มีนัยสำคัญที่ทำให้ระบาดง่าย หลบภูมิคุ้มกันจากธรรมชาติและวัคซีนได้ หรือรุนแรงเพิ่มมากขึ้น” นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงการระบาดปลายปี นพ.โอภาสกล่าวว่า การแจ้งเตือนประชาชน ผู้ปฏิบัติงานถือเป็นเรื่องดี ซึ่ง สธ.จับสัญญาณการระบาดพร้อมประเมินสถานการณ์ โดยจับตาข้อมูลของไทยและทั่วโลก ขณะนี้สัญญาณต่างๆ ค่อนข้างดี แต่เราไม่ได้วางใจ ต้องเฝ้าระวังเพื่อให้ตอบสนองต่อสถานการณ์ทันที ทั้งนี้ ความวิตกกังวลเรามีกันหมด แต่วิตกกังวลไปตลอดคงไม่ได้ ต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ก็จะมีทีมติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
เมื่อถามถึงการเร่งฉีดวัคซีน 2 ล้านโดสภายในปลายปีนี้ ต้องเน้นกลุ่ม 608 ทั้งหมดหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า จะเน้นในกลุ่ม 608 เป็นหลัก แต่ภาพรวมประชาชนก็ยังต้องฉีดอยู่ ส่วนวันที่ 12 ต.ค.นี้ จะมีการคิกออฟฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้ม ในกลุ่มเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี ที่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี ขณะนี้เตรียมการแล้ว คือ วัคซีนมาแล้ว มีการอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจเรื่องการฉีดและการเก็บ โดยวัคซีนอยู่ในขั้นตอนการกระจาย โดยต้องพื้นที่มีความพร้อมเตรียมเรื่องการเก็บรักษา โดยเราพร้อมส่งทุกเมื่อ จึงขอเชิญชวนผู้ปกครองนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีนได้ตามความสมัครใจ หากเป็นเด็กที่มีโรคประจำตัวก็จะมีแพทย์ให้คำแนะนำ