หลายครั้งที่เรามักเห็นข่าวผู้ป่วยจิตเวชอาการกำเริบและเกิดพฤติกรรมความรุนแรงขึ้น ซึ่งมีทั้งต่อตนเองและต่อบุคคลรอบข้าง จนทำให้เกิดภาพจำที่เลวร้ายหรือการตีตราผู้ป่วยจิตเวช ทำให้เมื่อรักษาและควบคุมอาการของคนไข้จนดีขึ้นแล้ว การกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมจึงเป็นเรื่องยากในหลายพื้นที่
ภารกิจการ "เตรียมชุมชน" จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นการทั้ง "ขอโอกาส" จากชุมชน และการ "ให้โอกาส" สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว
สำหรับพื้นที่เขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ และพิจิตร มี รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ เป็นศูนย์กลางรักษาด้านจิตเวชของเขตสุขภาพนั้น พญ.มัณฑนา กิตติพีรชล รอง ผอ.ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 3 รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วความรุนแรงสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยจิตเวชเท่านั้น แต่ผู้ป่วยโรคทางกาย โดยเฉพาะที่มีปัญหาทางสมอง หรือบุคคลธรรมดาทั่วไปที่ประสบภาวะวิกฤตหรือเครียดในชีวิต ก็ก่อเหตุความรุนแรงได้ แต่เรามุ่งเน้นในผู้ป่วยจิตเวช เพราะมีโอกาสก่อความรุนแรง แต่สรรพกำลังที่มีอาจไม่สามารถดูแลได้ทุกคน จึงเลือกกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อความรุนแรง 4 กลุ่ม คือ 1.มีประวัติทำร้ายตัวเองด้วยวิธีที่มุ่งให้ตัวเองเสียชีวิต 2.มีประวัติทำร้ายผู้อื่นด้วยวิธีรุนแรง หรือก่อเหตุรุนแรงทำให้หวาดกลัว สะเทือนขวัญในชุมชน 3.มีอาการหลงผิด มีความคิดทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นให้ถึงแก่ชีวิตหรือมุ่งร้ายผู้อื่นแบบเฉพาะเจาะจง และ 4.มีประวัติก่อคดีอาญารุนแรง เช่น ฆ่า พยายามฆ่า ข่มขืน หรือวางเพลิง
"จะเห็นว่า 4 กลุ่มมีโอกาสก่อความรุนแรงได้สูง จึงเลือกเป็นกลุ่มที่มาดูแล โดยในเขตสุขภาพที่ 3 พบว่า นครสวรรค์กับชัยนาทจะเป็นลักษณะผู้ป่วยโรคจิตเวชก่อความรุนแรงต่อตนเองสูงกว่าก่อเหตุกับผู้อื่น ส่วนอุทัยธานี กำแพงเพชร และพิจิตร ก่อความรุนแรงต่อผู้อื่นสูงกว่าตนเอง ซึ่งทั้งสองประเด็นก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน" พญ.มัณฑนากล่าว
พญ.มัณฑนากล่าวว่า สำหรับการดูแลจะเริ่มจากการประเมิน คัดกรอง และลงทะเบียนว่ามีโอกาสเสี่ยงก่อความรุนแรงเพื่อให้สามารถติดตามดูแลได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ก่อความรุนแรงซ้ำใน 1 ปี โดยระบบทำตั้งแต่บริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยจิตเวชฉุกเฉิน หากต้องรักษาใน รพ.ก็จะติดตามไปใน รพ.และลงไปในชุมชน จะทำแบบสหสาขาวิชาชีพ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ประชุมวางแผนหาปัญหาและแนวทางดูแลอย่างเหมาะสม เตรียมความพร้อมในชุมชนและญาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้ง รพ.แม่ข่าย รพ.ชุมชน รพ.สต. เครือข่ายแกนนำ อสม. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จะมาช่วยกันเพื่อประโยชน์สูงสุด คนไข้สงบสุข ดูแลตนเอง ไม่ก่อความวุ่นวายในชุมชน
"หลายคนชุมชนไม่ยอมรับ เพราะบางอย่างก็สะเทือนขวัญในชุมชน ทำร้ายมุ่งชีวิตผู้อื่น ซึ่งไม่ได้ส่งผลกระทบแต่คนเสียชีวิต แต่ส่งผลกระทบต่อญาติและคนในชุมชนด้วย เกิดความหวาดกลัว เรามีการเตรียม เข้าไปพูดคุยหลายครั้ง เพื่อให้เกิดความั่นใจ และติดตาม 1 ปี เพื่อให้สังคมชุมชนมั่นใจว่า เราไม่ทอดทิ้ง ซึ่งเราได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ผลลัพธ์ทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการประเมินและการดูแลอย่างเหมาะสม สามารถอยู่ในครอบครัวและชุมชนได้ และได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง" พญ.มัณฑนากล่าว
อย่างไรก็ตาม ทุกคนไม่ได้มีโอกาสดีเสมอไป หลายคนไม่ได้มีโอกาสกลับไปอยู่ในชุมชน ด้วยเหตุผลหลายอย่าง พญ.มัณฑนากล่าวว่า แม้จะเตรียมชุมชนอย่างไรก็ไม่ยอมรับ หรือไม่มีครอบครัวที่ดูแล เราจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สถานสงเคราะห์ช่วยรับผู้ป่วยออกไป ซึ่งในเขตสุขภาพที่ 3 เรามี 2 แห่ง คือสถานสงเคราะห์วังทอง จ.พิษณุโลก ช่วยรับผู้ป่วยจากพิจิตรและกำแพงเพชร และสถานสงเคราะห์ทับกวาง จ.สระบุรี จะช่วยรับผู้ป่วยในชัยนาท อุทัยธานี และนครสวรรค์ ซึ่งบางรายหลังรับการฟื้นฟูที่สถานสงเคราะห์ก็สามารถไปอยู่ที่นิคมและทำงานได้ มีรายได้เล็กน้อยในการดูแลตนเอง และเรายังมีชมรมผู้พิการทางจิต 5 ชมรม เพื่อให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในชุมชน ทำกิจกรรมในชุมชนและอยู่ได้ในชุมชน สามารถใช้ศักยภาพของเขาได้เต็มที่ ผู้ป่วยของเราได้รับการจ้างงาน ตาม พ.ร.บ.การจ้างงาน ด้วย
ขณะที่มุมของนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นหลักในการลงไปเตรียมชุมชน อย่างนางรัชนี ไพรสวัสดิ์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ให้ข้อมูลว่า เมื่อผู้ป่วยมีพฤติกรรมรุนแรงมา จะมีการประเมินของสหวิชาชีพ หนึ่งในนั้นคือ "นักสังคมสงเคราะห์" ที่จะช่วยลงพื้นที่ประเมินปัญหาทางสังคมเพื่อเตรียมชุมชน โดยมี รพ.ในพื้นที่ อสม. แกนนำชุมชน ญาติๆ เข้ามาร่วมว่า ปัญหาทางจิตรุนแรงเกิดจากอะไร ถ้าเป็นครั้งแรกอาจเป็นเพราะว่า เขามีปัจจัยเครียด สารเสพติด หรืออะไร หรือถ้าเป็นครั้งที่สองที่สามแล้ว อาจเป็นเรื่องการกินยา ไม่มีคนดูแล ไม่มีคนเอายาให้กินหรือไม่ ก็จะเอาปัญหาเหล่านี้มาประชุมสหวิชาชีพใน รพ. เพื่อให้การรักษาดูแลต่อไป ซึ่งการเตรียมชุมชนเราจะวางระบบว่า ถ้าเขามีปัญหานี้ใครจะช่วย
"หากอยู่กับแม่สูงอายุที่ไม่พร้อมดูแลเรื่องยา อย่างต้องกินยาวันละ 3-4 มื้อ หมอก็จะช่วยปรับยาให้เป็นมื้อที่เหมาะสม เช่น ลดจำนวนมื้อยาลง เหลือ 2 มื้อสะดวกหรือไม่ รพ.สต.อาจจัดยาให้ทุก 3 วัน แล้วให้ อสม.ที่กล้าอยู่กับคนไข้หรือคนไข้ไว้ใจนำยามาให้ หรืออาจเพิ่มยาฉีดเพิ่มการควบคุมอาการทางจิต ซึ่งจะแล้วแต่ปัญหาและบริบท นอกจากนี้ ยังมีระบบการติดตามในชุมชนหรือเรื่องสวัสดิการ ถ้าครอบครัวยากจนเราประสาน พม. ศูนย์คุ้มครองในการลงไปประเมินด้วยกัน ให้การอนุเคราะห์ทั้งครอบครัวและตัวคนไข้เอง ส่วนตัวผู้ป่วยเราส่งนักกิจกรรมเพื่อฟื้นฟู ให้เขาสามารถรับรู้เรื่องการกินยา ดูแลตัวเองในเบื้องต้น มีทักษะดูแลกิจวัตรประจำวัน ให้คนไข้พร้อมกลับสู่ชุมชน ถ้าคนไข้อาการดีพร้อมกลับสู่ชุมชนก็จะส่งกลับ" นางรัชนีกล่าว
นางรัชนีกล่าวว่า หลังส่งคืนชุมชนเสร็จเราจะเฝ้าระวังและประเมินช่วง 2 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์จะนัดมา รพ.เพื่อดูว่า เขากินยาตัวนี้แล้วดีไหมขณะกลับไปอยู่ชุมชน ก็จะให้หน่วยงานในชุมชน เช่น รพ.สต.หรืออบต.พาคนไข้และญาติมาฟอลโลว์อัปที่เรา หากอาการดี กินยาตัวนี้แล้วนิ่ง อยู่ในชุมชนได้ แพทย์อาจส่งกลับพื้นที่ คือ ทำใบส่งตัวกลับไปยัง รพ.ชุมชนในพื้นที่ เพื่อความสะดวกในการดูแลต่อเนื่อง และเราจะตามต่อเนื่องอย่างนี้ นักสังคมสงเคราะห์จะลงเยี่ยมบ้านและประเมินปัญหาร่วมกับทีมทุก 1 เดือน ในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นจะทิ้งระยะห่างขึ้น แต่เราจะโทรกระตุ้นพื้นที่ต่อเนื่อง เพราะ รพ.ในพื้นที่ก็มีภาระหนักในการดูแลคนไข้อื่นด้วย ถ้าเราไม่กระตุ้นหรือทิ้งห่างไปเรื่อยๆ นานๆ คนไข้อาจจะไม่ได้กินยาอยู่ดี
"คนไข้จิตเวชมีข้อจำกัด คือ เวลาเขาเจ็บป่วยเขาไม่รู้ว่าเขาเป็น เพราะหลุดออกไปจากโลกของความเป็นจริง ดังนั้น ความร่วมมือในการดูแลของเขาจะน้อย ประกอบกับยาจิตเวชบางตัว กินแล้วผลข้างเคียงเยอะ ทำให้ตัวแข็ง ลิ้นแข็ง คอแข็ง ไม่มีความสุขมันกดไว้ เขาก็จะไม่อยากกิน เราจึงเห็นข่าวว่า ทำไมอาการคนไข้จิตเวชอาการทางจิตกำเริบบ่อยๆ ถ้าเขาไม่ได้รับการกำกับดูแลในการกินยา ร้อยละ 90 จากประสบการณ์ถ้าให้เขากินเองก็จะไม่กิน เพราะเขาไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรและผลข้งเคียงยาเยอะ การใช้ชีวิตมันช้าลงก็จะไม่อยากกิน ต้องมีคนกำกับช่วยดูแล เราจึงต้องคอยกระตุ้นพื้นที่ให้ช่วยดูแล และโทรไปถามว่าเคสนี้เป็นอย่างไร จะสร้างแรงกระตุ้นให้เขาไปช่วยดู" นางรัชนีกล่าว
สำหรับระยะเวลาในการเตรียมชุมชน นางรัชนีบอกว่า ขึ้นกับความพร้อมชุมชนและความพร้อมผู้ป่วย บางเคสชุมชนบอกขอเวลา 1-2 เดือน อย่างบางเคสเผาบ้านหมด ไม่มีบ้าน ก็ต้องให้ชุมชนช่วยกันทำบ้านให้คนไข้ก่อน ส่วนคนไข้ก็ต้องพร้อมด้วย อย่างบางแห่งชุมชนพร้อม แต่คนไข้เรายังไม่พร้อม หมอบอกว่ายังขอลองฟื้นฟูอีก เราจะส่งกลับเมื่อพร้อมทั้งชุมชนและคนไข้ อย่างที่เจอนานสุดๆ ก็เตรียมประมาณ 6 เดือน ซึ่งจะนานที่อาการคนไข้
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะส่งกลับคืนชุมชนได้ทุกราย นางรัชนีเล่าว่า จากการลงเตรียมชุมชนก็เคยเจอเหตุการณ์ชุมชนต้านไม่ยอมรับผู้ป่วยจิตเวชเหมือนกัน โดยเจอประมาณ 20% ซึ่งก่อนลงพื้นที่บางทีเราต้องถามเลยว่า คนไข้ว่าทำกรรมดีไว้มากแค่ไหน เพราะต่อให้เราไปเตรียมแล้ว แต่พอถึงเวลาชุมชนก็ต้านอยู่ดี บอกว่ามันรุนแรง ก้าวร้าว เขาจำภาพรุนแรงตรงนั้น ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ดังนั้น เวลาเราลงไปเตรียมชุมชนก็ต้องพยายามพูดให้คนเข้าใจบอกว่า เขาป่วยเพราะอะไร ซึ่งในมุมของคนในชุมชนอาจมองว่าเพราะไม่กินยา ไม่รักตัวเอง แต่มุมที่เราจะทำให้เขาเห็นคือ คนไข้เขาไม่รับรู้ว่าป่วย การกินยาสำหรับเขาไม่จำเป็นเพราะฉันไม่ได้เป็นอะไร จึงต้องไปใส่ความรู้เรื่องการเจ็บป่วยทางจิตเป็นอย่างไร การดูแลเป็นอย่างไร ข้อจำกัดของผู้ป่วยจิตเวชคืออะไร ต้องไปให้ความรู้พื้นที่และญาติก่อน
"พอเขารับรู้ก็เชื่อว่า ทัศนคติจะเปลี่ยน แต่ก็มีบางพื้นที่ที่ไม่เปลี่ยน หรือกรณีครอบครัวไม่พร้อมดูแลจริงๆ หรือคนไข้ไม่ร่วมมือแล้วจริงๆ เราก็ส่งสถานสงเคราะห์หรือสถานคุ้มครอง ซึ่งปีหนึ่งเราส่งประมาณ 30 คน อย่างล่าสุดที่เราส่งไป คือ คนไข้กลับมาหาเราครั้งที่ 4 คนไข้ไม่ร่วมมือจริงๆ เราก็ประสานส่งต่อสถานสงเคราะห์ โดยประสานศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนั้นๆ ก็จะมีการลงเยี่ยมบ้านประเมินกันอีกที เพื่อทำข้อมูลเหล่านี้ส่งไปที่สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทางนั้นก็จะเทเลคอนเฟอเรนซ์ประเมินคนไข้เราเป็นอย่างไร ยินดีไปไหม เราก็ต้องพยายามเตรียมคนไข้ด้วยเช่นกัน เพื่อให้คนไข้พร้อมไปอยู่และไม่หนี" นางรัชนีกล่าว
นางรัชนีบอกว่า ถ้าสถานสงเคราะห์ประเมินแล้วอยู่ 1-2 ปี ก็มีการฝึกอาชีพแล้ว ฟื้นฟูแล้ว ก็กลับสู่ชุมชน ซึ่งการฝึกอาชีพมีให้เลือกทำหลายอย่าง ทั้งพรมเช็ดเท้า หร่อไปทำงานโรงงานข้างนอกเย็นกลับมานอน ขึ้นกับการคัดเกรด เรามีเกรด AA , A , B อย่างสถานสงเคราะห์วังทอง งานหลักคือไปแยกขยะ อย่างคนไข้ของเราก็มีเคสส่งไปแยกขยะและทำงานเก่งมาก จนเจ้าของให้ออกไปอยู่บ้านพักคนงานได้เลย ซึ่งเคสนี้อยู่ที่เทศบาลนางลือ จ.ชัยนาท เป็นผู้ชายอายุ 40 ปี แรกๆ ญาติดูแลดี พอตอนหลังมีอาการกำเริบ เขาก็ไม่ร่วมมือในการดูแล ญาติก็ทอดทิ้ง พอส่งมาที่เราฟื้นฟู เราไปเตรียมชุมชนนางลือ อบต.ก็ให้การดูแลช่วยเหลือ สร้างบ้านหลังเล็กๆ ให้ในพื้นที่ของญาติ ซึ่งแรกๆ ญาติก็กลัวไม่อยากดูแล อบต.ก็ช่วยกันลงไปดูแล จนดีขึ้น ทำงานเล็กๆ น้อยๆ ได้ ญาติก็เริ่มยอมรับมากขึ้น
นางรัชนีกล่าวว่า ตอนแรกการให้ยาเป็นหน้าที่ อสม. หลังๆ ญาติก็เข้ามาช่วยดูแล พอมีโครงการของออมสิน ซึ่งตนได้ฝึกจ๊อบโค้ชมา ก็เลยคิดว่าเคสนี้พอไหว เลยเป็นจ๊อบโค้ชฝึกให้คนไข้ และไปถ่ายทอดสอนคนที่เทศบาลนางลือเรื่องของความรู้เรื่องโรคจิตเวช การใช้ชีวิตกับผู้ป่วยของเรา เราสอนคนที่ควบคุมว่า จะพูดกับเขาอย่างไร สื่อสารอย่างไรให้เขาร่วมมือทำงาน ให้เข้าใจและไม่โกรธ ฝึกคนในพื้นที่และเอาคนไข้ไปจ้างงานที่นั่น ตอนนี้เขาก็ช่วยทำสวน เรายังลงไปดูทุก 3 เดือน ให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะบางทีบางวันคนไข้เราก็ดื้อ บางคนจะเข้าใจคำพูดการสื่อสารไม่รับรู้ได้อย่างคนตั้งใจฟัง ก็คิดว่าถูกตำหนิ โวยวายไม่อยากทำงาน ในฐานะจ๊อบโค้ชเราก็ต้องลงไปไกล่เกลี่ยตรงนั้นช่วยเหลือเขา
"จริงๆ เราคาดหวังว่าเขาจะสามารถดูแลตัวเองได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเทียบกับ 3 ปีมาเป็นคนไข้เรา วันนี้เขาดีขึ้นมาก เราอาจจะต้องดูแลไปตลอด แต่ไม่ท้อ เราคิดว่าจะค่อยๆ ปล่อยไป แต่เมื่อไรที่เขาเริ่มมีอารมณ์ พฤติกรรมไม่เหมาะสม เราก็พร้อมจะดูแลเขา นี่คือคนไข้จิตเวชจริงๆ เราปล่อยเขาไม่ได้ เขาจะเป็น "สมบัติ" ของเราทั้งชีวิต เราให้เขาทำงานในพื้นที่ ซึ่งเขาจะไม่เหมือนพิการทั่วไป การพิการทางจิต จ๊อบโค้ชจะเหนื่อย เพราะเขาเป็นสมบัติของเรา วันหนึ่งหากเขาลุกขึ้นมาก้าวร้าว เราก็ต้องพร้อมลงไปในพื้นที่ ทำให้คนในพื้นที่เข้าใจ ไม่โกรธเขา ให้โอกาสเขา และไม่ทำร้ายเขา" นางรัชนีกล่าว
หากให้ถอดบทเรียนว่าปัจจัยใดที่ทำให้คนไข้กลับคืนสู่ชุมชนได้สำเร็จ นางรัชนี มองว่า คนไข้ยอมกินยาร่วมมือดูแลตัวเอง และชุมชนให้โอกาสคนไข้ เพราะคนไข้มักไม่กินยาต่อเนื่อง เมื่ออาการกำเริบ ต่อให้ชุมชนให้โอกาสหรือครอบครัวรักอย่างไร คนไข้ก็อยู่ชุมชนไม่ได้ก็ต้องมารักษา แต่ถ้ารักษากลับไปคนไข้ร่วมมือกินยา ดูแลตัวเอง คนไข้จะอยู่ได้ ชุมชนจะให้โอกาส เราเคยเจอหลายชุมชนมากๆ คนไข้กลับมาครั้งที่ 10 ครั้งที่ 20 ของเรา ชุมชนก็ยังยินดีดูแล นี่คือกรรมดีอย่างที่บอก เราต้องพยายามช่วยชุมชนให้เข้าใจและให้โอกาสเขา นี่คือหน้าที่ของเรา ส่วนที่มีการกลับมาหลายครั้งต้องเข้าใจว่า ถ้ามารับการรักษาครั้งแรกอาการทางจิตสงบกลับไปอยู่ได้เลย อาการหลงเหลือแทบไม่มี แต่ถ้าแอดมิทบ่อยอาการหลงเหลือของคนไข้จะต่างกัน เช่น อาการครั้งที่ 10 กลับไปอาจจะมีอาการหูแว่วที่รักษาไม่หายกลับไป ก็ต้องพยายามอธิบายให้ญาติเข้าใจและคนไข้ยอมรับการดูแลช่วยเหลือ
ส่วนกรณีการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะแอมเฟตามีน สมองส่วนควบคุมของเขาจะเสียไป นางรัชนีจึงย้ำว่า เวลากลับบ้านญาติต้องเป็นสมองส่วนควบคุมให้เขา ทำอย่างไรที่ต้องคุมให้เขาสามารถจัดการตัวกระตุ้นได้ เช่น ไม่ให้ไปเจอเพื่อน เพราะไปเจอเพื่อนแล้วจัดการตัวกระตุ้นไม่ได้จนกลับไปเสพ ซึ่งคนไข้เราหรือญาติบางคนก็ไม่ได้พร้อมที่จะควบคุมเขาขนาดนั้น ทำให้เกิดการกลับไปใช้ซ้ำและกลับมามีอาการรุนแรงได้
"ตามทฤษฎีผู้ป่วยมีมีโอกาสกลับมามีอาการซ้ำได้อยู่แล้ว ดังนั้น การนอน รพ.บ่อยๆ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ชุมชนกลัว แต่เมื่อเริ่มมีอาการกลับมา เช่น กินไมได้ นอนไม่หลับ ตาขวางๆ หน่อย ถ้าครอบครัวและชุมชนเฝ้าระวังอาการเบื้องต้นแบบนี้ โดยแจ้งพื้นที่ เช่น รพ.สต. รพ.ชุมชน ซึ่งทุก รพ.ชุมชนมีพยาบาลจิตเวช จะสามารถประเมินเบื้องต้นได้ ถ้าประเมินได้ก็ให้การรักษาที่รพ.ชุมชนก่อน หรือถ้าไม่ไหวค่อยส่งมาที่เรา ก็ลดความรุนแรงในชุมชนและครอบครัวได้ แต่ถ้าครอบครัวลืม ชุมชนไม่ได้เฝ้าระวัง อย่างนอนไม่หลับมานานแล้ว กลับไปกินเหล้าอีก เกิดการกระตุ้นอีก ระบบการดูแลเฝ้าระวังไม่ดี อาการก็จะรุนแรงในชุมชนจนต้องจับมา" นางรัชนีกล่าว
นางรัชนีกล่าวว่า ภาพรวมชุมชนก็เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น เราสร้างเครือข่ายขึ้น ซึ่งหลายชุมชนเราลงไปแล้วก็พบว่ามีการวางระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชดีมาก บางแห่งปลัดอำเภอลงมาลุยเองว่า ให้มีระบบของการเฝ้าระวังอย่างที่เราวางไว้ แต่กำชับให้มั่นใจมากขึ้น เช่น ผู้ป่วยกลับไปต้องไปรายงานกับปลัดอำเภอว่ากลับมาแล้ว และมอบหมายคนในชุมชนช่วยกันดูแล ซึ่งเริ่มมีพื้นที่ที่ตระหนักและเฝ้าระวังตรงนี้เยอะขึ้นแล้ว ซึ่งการที่พื้นที่ให้ความสำคัญจะทำให้ระบบเข้มแข็งขึ้นเอง โดยเราได้แค่วางระบบให้ ช่วยประคับประคอง แต่คนขับเคลื่อนทำให้เข้มแข็งคือชุมชน ซึ่งปีหนึ่งๆ เราทำเรื่องให้คนไข้กลับสู่ชุมชนได้ 30-40 เคส แต่ถ้าเทียบกับคนไข้แอดมิทกว่า 600 คนก็ถือว่าไม่เยอะ เราคาดหวังว่าจะทำให้คนไข้แอดมิทน้อยลง ถ้าเราทำให้ชุมชนเข้มแข็ง หากป่วยขึ้นมาอีกก็จะมีระบบการดูแลของเขาอยู่
อย่างเคสที่ประทับของการเตรียมชุมชนและผู้ป่วยร่วมมืออย่างดี ก็มีเคสผู้ป่วยจิตเวชหญิงวัย 50 กว่าปี ซึ่งมาแอดมิทเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 3 ปี ซึ่งส่งต่อจาก รพ.ชัยนาท ซึ่งสองครั้งแรกไม่ได้ประเมินเนื่องจากญาติคนไข้รับกลับ แต่พอมาครั้งที่สามก็รู้สึกว่ามีปัญหาเลยลงไปประเมินเตรียมชุมชน ก็พบว่า อยู่กับแม่ตาบอดซึ่งดูแลคนไข้ไม่ได้ และมีหลานห่างๆ ใน อ.เมืองชัยนาท เคสนี้ตอนแรกเราตั้งเป้าเลยว่าจะส่งสถานสงเคราะห์ แต่พอเราทำประชาคมเสร็จเราก็ขอโอกาสอีกสักที คือ อยากให้คนไข้มาลองอยู่ในชุมชนดู พอดีมีหลานสาวอยู่ใน อ.เมือง บอกให้มาอยู่ที่เขาก่อนได้ เพราะช่วงปีที่แล้ว อ.สรรพยาน้ำท่วม ผู้ป่วยกลับพื้นที่ไม่ได้ ทั้งแม่และลูกก็มาอยู่ที่บ้านหลานสาว พอเราไปเยี่ยมเราพบว่าผู้ป่วยจิตเวชสามารถดูแลแม่ตาบอดได้อย่างดี และรบเร้าอยากกลับบ้านที่สรรพยา เราก็ไปเตรียมชุมชนที่สรรพยา และมีการติดตามเรื่อยไ
"ช่วงที่เราติดตามเมื่อเดือนที่แล้ว เราไปถึงเราก็ประทับใจ เพราะเราเห็นคนไข้กำลังป้อนข้าวแม่ จากเคสที่เราคิดว่าสุดทางของเขาแล้ว คือ ต้องไปสถานสงเคราะห์แน่นอน ไม่มีใครเอา แม่ก็ตาบอด กลายเป็นคนไข้มาเป็นเรี่ยวแรงหลักในการทำอาหาร ดูแลแม่ เราก็ถามทางแม่ว่าเป็นอย่างไร แม่ก็บอกว่าดีใจมากเลย เขาทำกับข้าวให้กินดูแลทุกอย่าง จากตอนที่เราคิดว่าต้องเป็นภาระแน่เลย แต่เขากลับดูแลแม่ได้อย่างดี ซึ่งเขาไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร แต่ก็มีเงินช่วยเหลือในเรื่องเงินผู้สูงอายุและเงินผู้พิการทั้งของตัวเองและของแม่ในการเลี้ยงดูตนเอง" นางรัชนีกล่าว