สหภาพลูกจ้างฯ ยื่นหนังสือถึงปลัด สธ.ช่วยติดตามข้อเรียกร้องการจ้างงานกลุ่มสายสนับสนุนบริการ ขอปรับสัญญาจ้างกลุ่มพนักงานกระทรวง จาก 4 ปีเป็นจ้างถึงอายุ 60 ปี ยกเลิก "ลูกจ้างชั่วคราว-จ้างเหมาบริการ" เหลือ พกส.เพียงแบบเดียว หลังยื่นเรื่องไปแล้วยังไม่คืบ
เมื่อวันที่ 7 ต.ค. นายโอสถ สุวรรณ์เศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.) นำเครือข่ายพนักงานและลูกจ้างสายสนับสนุนบริการ มายื่นหนังสือถึง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อขอให้ติดตามข้อร้องทุกข์ร้องเรียนของพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการ (รายวัน-รายเดือน) สายสนับสนุนบริการ 56 สายงาน เนื่องจากช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมา พกส. ลูกจ้างชั่วคราว และจ้างเหมาบริการสายสนับสนุน 56 สายงานรวม 1.4 แสนคนที่ปฏิบัติหน้าที่ เช่น พนักงานขับรถยนต์ พนักงานผู้ช่วยเหลือคนไข้ ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานเปล พนักงานบัตรรายงานโรค พนักงานห้องเอกซเรย์ พนักงานวิทยาศาสตร์ (ห้องปฏิบัติการ) , พนักงานประจำห้องยาเป็นต้น ต่างปฏิบัติหน้าที่อย่างหนักหน่วงและทำงานด่านหน้าถูกกดดันจากการให้บริการผู้ป่วยทั้งกลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อโดยตรง เมื่อเทียบกับลูกจ้างสายวิชาชีพและสหวิชาชีพ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการบรรจุข้าราชการ 4.5 หมื่นอัตรา ทำให้ สลท.เห็นถึงความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมในองค์กรต่อการเลือกปฏิบัติ
ทั้งนี้ มิได้คาดหวังถึงการบรรจุข้าราชการ แต่ขอเพียงให้ได้รับสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล ให้มีความก้าวหน้าในสายงาน มีความมั่นคงในการทำงานเทียบเคียงกับตำแหน่งลูกจ้างประจำ ดังนั้น สลท.จึงขอติดตามข้อเรียกร้องเดิมต่อผู้บริหาร สธ. 4 ข้อ คือ 1.ขอให้ พกส.สายสนับสนุนบริการ เข้าสู่ระบบการจ้างด้วยเงินงบประมาณจากการกระทรวงการคลังโดยตรง ไม่ใช่เงินบำรุงของ รพ. ทำให้ไม่มั่นคงในการจ้างงาน ถูกกดขี่ค่าจ้าง ไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องปรับเงินเดือนประจำปี
2.ขอให้ สธ.ยกเลิกสัญญาการจ้างระยะสั้น 4 ปีของ พกส.ที่ไม่มีความมั่นคง ให้ปรับระบบสัญญาจ้างงานจนถึงอายุ 60 ปี เช่นเดียวกับลูกจ้างประจำ โดยรอบปีที่ผ่านมามีการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม
ที่ให้ปรับลดสัญญาจ้างจาก 4 ปีเหลือ 1 ปี ทั้งที่มีระเยียบ พกส.รองรับ อาจมีการกระทำซ้ำในอนาคต
3.ขอให้ยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงแบบลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างเหมาบริการของ สธ.ทั้งหมด ขอให้ปรับเข้าสู่ระบบการจ้างงานเป็น พกส.ทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการทำงานและสวัสดิการให้มีลูกจ้าง สธ.เพียงสายงานเดียว คือ พกส.
และ 4.ขอให้ พกส.และลูกจ้างฯ ที่ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้รับค่าเสีย่งภัยเหมือนข้าราชการ เพราะมีความเสี่ยงเหมือนเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่นกัน
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลและผู้บริหาร สธ.เร่งแก้ไขปัญหาให้แก่กลุ่มพนักงาน ลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมาบริการสายสนับสนุนบริการให้ได้รับความเป็นธรรม มีความก้าวหน้ามั่นคง มีหลักประกันในการทำงาน เพื่อขวัญกำลังใจในการทำงานและปฏิบัติหน้าที่สืบต่อไป ทั้งนี ได้เคยยื่นเรื่องถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใด โดยทางสหภาพฯ จะติดตามเรื่องนี้ โดยให้เวลาอีกประมาณ 1 เดือน หากยังไม่มีความคืบหน้า ก็จะมาทวงถามที่ สธ.อีกครั้ง