กรมสุขภาพจิตส่งทีมดูแลเยีวยาจิตใจติดตามผู้รับผลกระทบก่อเหตุกราดยิง "ศูนย์เด็กเล็ก" จ.หนองบัวลำภู ทั้งเด็กนักเรียน พ่อแม่ ครู พร้อมให้การช่วยเหลือทุกด้าน วอนคนวงในซักถามผู้ประสบเหตุ อย่าคาดคั้นตอกย้ำภาพความรุนแรงในหัวจนเยียวยาได้ยาก ไม่ส่งต่อภาพความรุนแรง
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงเหตุกราดยิงในศูนย์เด็กเล็ก จ.หนองบัวลำภู จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และผู้ก่อเหตุได้ยิงตัวตายพร้อมครอบครัว ว่า ขณะนี้ได้ให้ทีมสุขภาพจิตจากโรงพยาบาลจิตเวชเลยนราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 8 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งเคลื่อนที่ลงไปแล้ว โดยหลักการจะเข้าไปดูผลกระทบทางด้านจิตใจ ร่วมกับผลกระทบทางร่างกายผู้ประสบเหตุ ทั้งเด็กนักเรียน พ่อ แม่ ครูพี่เลี้ยง ที่เกี่ยวข้อง และบุคลากรทุกสายงาน เพราะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรง สะเทือนขวัญที่จะสร้างความเจ็บปวดมาก ที่ต้องเตรียม คือ ความรู้สึกสูญเสีย และความรู้สึกผิดของคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ทีมจิตแพทย์ต้องเข้าไปดูแล ช่วยเหลือทุกด้าน
"เรื่องสะเทือนขวัญขนาดนี้ ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมากขนาดนี้ จะส่งผลกระทบยาวพอสมควร วิธีการช่วยเหลือที่ดีที่สุดตอนนี้ คือ ทำให้คนที่เกี่ยวข้องรู้สึกปลอดภัยก่อน เพราะการเผชิญเหตุการณ์อกสั่นขวัญแขวน การเห็นภาพความรุนแรง การได้ยินเสียงจะติดอยู่ในความรู้สึกที่รุนแรงมาก หากอยู่ในสถานที่ที่มั่นใจว่าปลอดภัย และมีคนคอยประคับประคองตรงนี้เป็นเรื่องแรกที่ต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ประคับประคองตัวเองได้น้อย ต้องได้รับการปกป้องจากผู้ใหญ่ที่คุ้นชินเป็นเรื่องสำคัญมาก" พญ.อัมพรกล่าว
พญ.อัมพร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องขอความช่วยเหลือจากทุกคนในสังคม คือ 1.สังคมวงในที่อยู่ใกล้ชิดผู้ประสบเหตุ ในเรื่องการซักถามต่อผู้ที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรง พบว่าบ่อยครั้งลักษณะการถามมีลักษณะเจาะ เค้น ขุดคุ้ย เป็นการตอกย้ำภาพความรุนแรง เสียง บรรยากาศของความรุนแรงจะฉายวนอยู่ในจิตใจคนนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกลายเป็นแผลลึก ทำให้เยียวยาคลี่คลายได้ยาก ดังนั้น การซักถามส่วนหนึ่งอยากรู้ ส่วนหนึ่งอยากช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งอยากติดตามเหตุเพื่อป้องกันเหตุการณ์ หากจำเป็นต้องกระทำ ขอให้ทำโดยอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจความรู้สึกและข้อจำกัดตรงนี้ การถามต้องพร้อมรับฟังอารมณ์ ความรู้สึก ไม่สร้างคำถามที่ทำให้รู้สึกคุกคาม ทำให้ต้องกลับไปคิดวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ทำให้เขารู้สึกผิดหรือกล่าวโทษตอกย้ำ
และ 2.การส่งต่อข้อมูลต่างๆ ต้องระวังว่าจะเป็นการปลุกเร้าความรุนแรง ภาพความรุนแรง ภาพความสูญเสีย ความเจ็บปวด ร่างของผู้เสียชีวิตต่างๆ เป็นการละเมิดผู้เสียชีวิต ทำร้ายจิตใจ ทำลายศักดิ์ศรีผู้ก่อเหตุ ดังนั้นขอให้ทุกคนให้เกียรติผู้สูญเสีย ผู้เกี่ยวข้อง ไม่เผยแพร่ภาพความรุนแรงทำให้คนใกล้ชิด สังคม เกิดความเจ็บปวดมากขึ้น หรือเป็นการทำให้สังคมเกิดความชาชินต่อความรุนแรง ดังนั้นไม่ควรส่งต่อภาพ คลิป เหตุการณ์ความรุนแรง
เมื่อถามว่า อาจเป็นการลอกเลียนแบบหรือไม่ เนื่องจากเพิ่งจะเกิดเหตุการณ์กลุ่มที่มีอาวุธในมือก่อเหตุเหมือนกัน พญ.อัมพร กล่าวว่า ต้องมีการสอบสวนถึงจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใกล้เคียงกัน ทำให้เกิดข้อสงสัยเช่นนี้ จะยิ่งเป็นการย้ำให้เรารู้ว่าอย่าเผยแพร่ภาพ คลิป ข่าวสารโดยเน้นสีสัน ทำให้คนที่อยู่ในความทุกข์ ความเครียด แล้วไปกระตุ้นการก่อเหตุได้ การป้องกันคือ ป้องกันตัวเอง สำรวจความรู้สึกตัวเองว่าโกรธ ก้าวร้าว ไม่สามารถจัดการได้หรือไม่ แล้วตั้งหลักหาทางออกปรึกษา เป็นการป้องกันระดับบุคคล และต้องสนใจคนรอบข้างทั้งหลายด้วย เพื่อรับฟัง หากเกินความสามารถสามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือสายด่วน 1323 ตอนนี้กรมสุขภาพจิตให้หน่วยงานด้านสุขภาพจิตทุกหน่วยเป็นที่พึ่ง และรักษาโรคทางจิตใจที่เป็นเหตุของความก้าวร้าว รุนแรงได้ตลอด จน อสม.ก็ได้รับความรู้ในการสังเกตความรุนแรงในสังคม