xs
xsm
sm
md
lg

ดับช่วง "น้ำท่วม" รวม 26 ราย พบถูกกระแสน้ำพัดจนจม แนะวิธีเอาตัวรอดหากรถจมน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัด สธ.เผยยอดดับสะสมช่วงน้ำท่วมตั้งแต่ 15 ส.ค. รวม 26 ราย เกือบทั้งหมดถูกกระแสน้ำพัดขณะเดินเท้า ใช้รถหรือเรือ และจมน้ำ แนะวิธีเอาตัวรอดหากรถตกน้ำ รีบปลดล็อกประตู ลดกระจก หรือทุบกระจกให้แตก หากเปิดประตูไม่ได้ให้รอน้ำไหลเกือบเต็มจะเปิดง่ายขึ้น ออกจากรถแล้วให้ลอยตัวเหนือน้ำ ย้ำ 4 ห้าม 4 ให้ ลดเสี่ยงจมน้ำ

เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2565 - ปัจจุบัน พบผู้เสียชีวิตที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์น้ำท่วมสะสม 26 ราย สาเหตุคือถูกกระแสน้ำพัดขณะเดินเท้าหรือใช้รถ/เรือ และจมน้ำถึง 23 ราย ขอให้ประชาชนยึดหลัก “4 ห้าม 4 ให้” โดย 4 ห้าม ได้แก่ 1.ห้ามหาปลาในช่วงน้ำไหลหลาก 2.ห้ามดื่มสุราแล้วลงเล่นน้ำ 3.ห้ามเดินผ่านหรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม เพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว ก็ทำให้รถเสียหลักและล้มได้ และ 4.ห้ามเด็กลงเล่นน้ำ เพราะอาจพลัดตกหรือถูกน้ำพัดได้ ส่วน 4 ให้ ได้แก่ 1.ให้อพยพไปพื้นที่สูงและรีบออกจากพื้นที่กรณีเกิดน้ำท่วม 2.ให้สวมเสื้อชูชีพ หรือนำอุปกรณ์ที่ลอยน้ำได้ติดตัวไปด้วย 3.ให้เดินทางเป็นกลุ่ม เพื่อช่วยเหลือกันเวลาฉุกเฉิน และ 4.ให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

"หากเกิดอุบัติเหตุขับรถตกน้ำ ขอให้คุมสติ ปลดเข็มขัดนิรภัย กรณีรถเพิ่งเริ่มจมน้ำ ให้ปลดล็อกประตู รีบลดกระจกลงหรือใช้ของแข็งทุบกระจกด้านข้างให้แตก หากรถจมน้ำทั้งคัน เปิดประตูไม่ได้ ให้ยกศีรษะเหนือน้ำ รอให้น้ำไหลเข้ามาจนเกือบเต็มจะเปิดประตูได้ง่ายขึ้น เมื่อออกจากรถได้แล้วปล่อยตัวให้ลอยขึ้นเหนือน้ำตามธรรมชาติ" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและพายุโซนร้อนโนรู ปัจจุบันมีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 19 จังหวัด สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบสะสม 93 แห่ง ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) 1 แห่ง รพ. 7 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 6 แห่ง และ รพ.สต. 79 แห่ง เปิดให้บริการปกติ 71 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 16 แห่ง ปิด/ย้ายจุดบริการ 6 แห่ง ได้แก่ รพ.สต.ท่าช้าง รพ.สต.ปากดุก อ.หล่มสัก ตั้งจุดบริการบริเวณหน้าหมู่บ้าน, รพ.สต.มะกอก จ.มหาสารคาม ตั้งจุดบริการที่วัดจันทร์ประดิษฐ์ บ้านท่ามะกอก, รพ.สต.หนองเมือง รพ.สต.บัวชุม และรพ.สต.ท่ามะนาว จ.ลพบุรี ตั้งจุดบริการในหมู่บ้าน

ทั้งนี้ ได้จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ออกให้บริการประชาชนรวม 211 ทีม ตรวจรักษา 10,471 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนัง เช่น แพ้ ผื่นคัน และโรคทางเดินหายใจ พบผู้มีภาวะเครียด 1,115 ราย เฉพาะจังหวัดศรีสะเกษพบผู้มีภาวะเครียดถึง 982 ราย และมีภาวะซึมเศร้าอีก 25 ราย ได้ให้การดูแลต่อเนื่องแล้ว นอกจากนี้ ขอให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพอื่นๆ ที่จะเกิดในช่วงน้ำท่วม เช่น ไข้หวัด ตาแดง อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า อันตรายจากไฟดูด เหยียบของมีคม และสัตว์มีพิษกัดต่อย หากได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร. 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น