ปลัด สธ.แถลงร่วมชมรม สมาคม สภาวิชาชีพ ด้านสาธารณสุข ยันทำงานร่วมกันในปี 66 ขับเคลื่อนระบบสาธารณสุข ยึดประโยชน์ประชาชน เผยหารือรับฟังปัญหามี 7 ประเด็นหลัก ทั้งเรื่องอัตรากำลัง ภาระงาน ความปลอดภัย ค่าตอบแทน การถ่ายโอนท้องถิ่น หากอยู่ในหน้าที่ สธ.จะเร่งดำเนินการทันที
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานประชุมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนางานด้านสาธารณสุข ในปีงบประมาณ 2566 ร่วมกับผู้แทนสมาคม ชมรม สภาวิชาชีพ สหภาพ/สหพันธ์ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป รวม 40 ชมรม 12 สมาคม 8 สภาวิชาชีพ และ 4 สหภาพองค์กร เพื่อขับเคลื่อนการทำงานนโยบายของ สธ.
นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า จากการหารือมี 7 ประเด็นหลัก คือ 1.บุคลากร อัตรากำลัง การบรรจุ และภาระงาน 2.สถานที่ทำงาน สิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เช่น ระบบระบายอากาศ การป้องกันการติดเชื้อใน รพ. ฯลฯ 3.ระบบวิธีการทำงาน โดยนำดิจิทัลมาใช้ทำงานมากขึ้น 4. ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม สวัสดิการต่างๆ บางส่วนที่ สธ.ทำได้ก็จะเร่งทบทวน บางส่วนต้องผลักดันข้อกฎหมายหรือประเด็นอื่นๆ ก็จะดำเนินการร่วมกัน 5.ถ่ายโอนภารกิจ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งเห็นพ้องกันว่า ประชาชนต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน 6.การดูแลการเข้าถึงสุขภาพของประชาชน ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางต่างๆ และ 7.ทุกองค์กร วิชาชีพ ชมรม สภาวิชาชีพ และสหภาพต่างๆ จะต้องมีการประชุมหารือในรายละเอียด และหารือภาพใหญ่ในอนาคต
“เราแถลงการณ์ร่วมกันว่า ขอแสดงเจตจำนงในการทำงานร่วมกัน โดยน้อมนำพระราชดำรัสสมเด็จพระบรมราชชนกที่ให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง และให้ยึดถือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก จะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว รวมพลังขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขด้วยความสามัคคี มีวินัย ไว้เนื้อเชื่อใจในการสนับสนุนระบบสาธารณสุขให้เข้มแข็ง มีความมั่นคงในสุขภาพมากขึ้น” ปลัด สธ. กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการบรรจุข้าราชการรองสอง จะติดตามอย่างไร เพราะยังติดอยู่ที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) นพ.โอภาส กล่าวว่า เข้าใจว่าหลายเรื่องค้างอยู่ เพราะหลายเหตุผล ทั้งเรื่องสถานการณ์โควิด หรือการขาดการประสานงาน แต่ตอนนี้ตนได้ทบทวนในเรื่องต่างๆ แล้ว และจะนำเรื่องมาติดตาม ซึ่งหลายเรื่องที่เป็นส่วนของ สธ.ก็ทำได้เลย เช่น การปรับค่าภาระงานของบุคลากร หรือ FTE ส่วนค่าตอบแทนค้างคาอยู่ที่เป็นหน้าที่ สธ.ก็จะเร่งดำเนินการ ส่วนไหนเกินอำนาจหน้าที่ สธ.ก็จะร่วมกับวิชาชีพเพื่อเกิดพลังขับเคลื่อนต่อไป