xs
xsm
sm
md
lg

เร่งลดอัตราฆ่าตัวตาย "อุทัยธานี" หลังพบสูงเกินเกณฑ์ 10 ต่อแสนประชากร เน้นจับสัญญาณให้ได้มากขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.จิตเวชนครสวรรค์ฯ เร่งลดปัญหาฆ่าตัวตายสำเร็จ จ.อุทัยธานี หลังพบอัตราฆ่าตัวตายยังสูง 10.12 ต่อแสนประชากร เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด เน้นเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเคยฆ่าตัวตาย สร้างเครือข่ายในพื้นที่ช่วยดักจับเฝ้าระวัง เผยจับสัญญาณฆ่าตัวตายช่วยเหลือได้ 46% ย้ำมีปัจจัยปกป้องที่ดี ครอบครัวใส่ใจ ชุมชนช่วยดูแล ช่วยลดปัจจัยเสี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้ฆ่าตัวตายได้

พญ.มัณฑนา กิตติพีรชล รอง ผอ.ฝ่ายพัฒนาเครือข่ายเขตสุขภาพที่ 3 รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์การฆ่าตัวตายของเขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งครอบคลุม จ.กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ชัยนาท และอุทัยธานี ว่า การฆ่าตัวตายไม่ใช่เหตุบังเอิญ ไม่ได้เป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษา แต่คนฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งจะมีปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวช เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งนี้ เราไม่อยากให้มีการสูญเสียจากสถานการณ์ฆ่าตัวตายแม้แต่คนเดียว แต่เป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมทุกคนได้ทั้งหมด แต่กรมสุขภาพจิตมีเกณฑ์ คือ ไม่ให้อัตราฆ่าตัวตายสำเร็จเกิน 8 ต่อแสนประชากร ซึ่งภาพรวมของเขตสุขภาพที่ 3 ในปี 2565 อยู่ที่ 6.59 ต่อแสนประชากร เป็นผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง คือ 80% ต่อ 20% ปัจจัยเสี่ยงมีทั้งโรคประจำตัวทำให้ทุกข์ทรมานเรื้อรัง โรคทางจิตเวชที่กำเริบ อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมจะไม่เกินกำหนด แต่บางจังหวัดยังสูงเกินเกณฑ์ คือ จ.อุทัยธานี อยู่ที่ 10.12 ต่อแสนประชากร แต่ไม่ใช่ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงทั้งจังหวัด บางอำเภอทำได้ดี การฆ่าตัวตายสำเร็จเป็นศูนย์ แต่บางอำเภอสูงก็เลยดึงตัวเลขขึ้นไป ถือเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องแก้ไขปัญหาต่อไป

พญ.มัณฑนากล่าวว่า ปัจจัยการฆ่าตัวตายค่อนข้างซับซ้อน เนื่องจากจะทราบได้อย่างไรว่าคนนั้นมีปัจจัยเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย และจะรู้ได้อย่างไรว่าคนมีปัจจัยเสี่ยงจะฆ่าตัวตายเมื่อไร มีปัจจัยอะไรมากระตุ้นบ้าง ซึ่งสังคมปัจจุบันมีปัจจัยที่ค่อนข้างกระตุ้นได้สูง เช่น เศรษฐกิจ สังคม ปัญหาในครอบครัว อย่างไรก็ตาม หลายคนมีปัจจัยเสี่ยงแต่ไม่ตาย เพราะไม่ได้มีเหตุอะไรมากระตุ้นให้ฆ่าตัวตาย รวมถึงมีปัจจัยปกป้องที่ดี อย่างบางคนอาจมีอาการป่วยทางจิต ใช้สารเสพติด หรือมีโรคทางกายที่ทุกข์ทรมาน แต่หากมีปัจจัยปกป้องที่ดี เช่น มีครอบครัวที่เห็นอกเห็นใจ มีคนที่ยอมรับเขา มีชุมชนที่ช่วยดูแล เขาก็ไม่ตายจากการฆ่าตัวตาย แต่ถ้าปัจจัยปกป้องอ่อนแอลง ความเสี่ยงจะสูงขึ้น

"เมื่อเขามีทั้งปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยกระตุ้น และปัจจัยปกป้องก็ไม่ดี รวมทั้งการเฝ้าระวังล้มเหลวคือ เมื่อเขาอยากตาย มีสัญญาณเตือนอาจจะลงสื่อโซเชียลมีเดีย บอกใครต่อใครว่าอยากตาย แต่ไม่มีใครตระหนักรู้ ร่วมกับเขาสามารถเข้าถึงอุปกรณ์การตายได้ เมื่อรวมกันก็จะทำให้ฆ่าตัวตายสำเร็จและเสียชีวิตได้ สิ่งสำคัญคือหากยังดักจับไม่ได้ หรือระบบเฝ้าระวังอาจยังไม่ดีพอ หลายครั้งที่ผู้คิดฆ่าตัวตายส่งสัญญาณ แต่คนรอบข้างยังไม่ตระหนัก ดักจับไม่ได้จึงนำมาสู่การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก" พญ.มัณฑนากล่าว


พญ.มัณฑนากล่าวว่า แม้ภาพรวมเขตสุขภาพที่ 3 จะดำเนินการลดการฆ่าตัวตายสำเร็จได้ดี แต่อยากจะพัฒนาให้ดยิ่งขึ้น โดยทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จลดลงอีก รวมถึงปี 2566 ที่จะต้องลดการฆ่าตัวตายสำเร็จใน จ.อุทัยธานีที่ยังสูงถึง 10 ต่อแสนประชากร โดยจะเน้นการเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ประเมินโอกาสการฆ่าตัวตาย เฝ้าระวังดูแลกลุ่มที่เคยฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์หรือปัจจัยที่บ่งบอกว่าเขาจะฆ่าตัวตาย โดย รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ทำหน้าที่เป็นศูนย์วิชาการ ในการอบรมสร้างผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตในระดับพื้นที่ ทั้งสำนักงานสาธารณสุขังหวัด รพ. สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ รวมถึง อสม. เพื่อให้ไปสร้างระบบการทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายในพื้นที่ในการเฝ้าระวังและดักจับสัญญาณการฆ่าตัวตาย ซึ่งเท่าที่เราวิเคราะห์ขณะนี้เราสามารถดักจับสัญญาณเตือนได้ประมาณ 42% ยังไม่ถึงครึ่ง ก็จะพยายามเพิ่มให้ได้มากที่สุด

"อย่างผู้สูงอายุที่ฆ่าตัวตาย เขาไม่ได้โพสต์ลงโซเชียล เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ติดเตียง มีอาการเจ็บปวดทรมานจากโรค ส่วนหนึ่งมีอยู่คนเดียว ญาติอาจให้ความสนใจไม่เต็มที่ สัญญาณเตือนคือการบ่นกับลูกหลานว่า เบื่อแล้ว ท้อแท้ แสดงออกลักษณะสีหน้าคำพูด โดยเฉพาะไม่อยากเป็นภาระของญาติ คำนี้จะเจอบ่อย" พญ.มัณฑนากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น