xs
xsm
sm
md
lg

คาดสัปดาห์หน้าเริ่มฉีด "ไฟเซอร์" เด็ก 6 เดือนได้ ย้ำฉีด 3 เข็ม หากอายุเกิน 5 ขวบก่อนครบ ให้ใช้สูตรฝาส้มแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคคาดสัปดาห์หน้าเริ่มฉีดวัคซีนโควิด เด็กเล็ก 6 เดือน - 4 ปีได้ ย้ำควรฉีดทุกคน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรง ทั้งต่ำกว่า 1 ขวบ คลอดก่อนกำหนด มีโรคประจำตัว เผยฉีดครบ 3 เข็มช่วง 7 วัน สู้โอมิครอนได้ 75-80% แต่ภูมิป้องกันติดเชื้อลดลงเร็ว แต่ยังช่วยป้องกันรุนแรง-เสียชีวิตได้ หากฉีดเข็ม 2 และ 3 ตอนเกิน 5 ขวบ ให้ใช้ฝาสีส้มสำหรับ 5-11 ปีแทน



เมื่อวันที่ 5 ต.ค. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดเสวนาวิชาการออนไลน์เรื่อง “ข้อมูลวัคซีนโควิด 19 สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน - 5 ปี และการใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง” โดย นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วง ม.ค. - ก.ค. 2565 พบผู้ป่วยโควิด 19 ในเด็กอายุ 0 - 4 ปี จำนวน 3.6 แสนราย จำนวนนี้ต้องนอน รพ.เกือบ 1 แสนราย มีอาการปอดบวมรุนแรงเกือบ 1 พันราย เสียชีวิต 65 ราย อัตราเสียชีวิต 0.01% หรือ 1 ในหมื่น เป็นโอกาสดีที่มีวัคซีนเด็กเล็ก คาดจะฉีดได้ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป ส่วนอัตราเสียชีวิตในผู้สูงอายุและมีโรคร่วมทั้งที่รับและไม่รับวัคซีนรวมกันอยู่ที่ 2.7% แต่ยิ่งไม่ได้รับวัคซีนจะมีโอกาสป่วยและเสียชีวิตสูงมากขึ้น ดังนั้นการรับวัคซีนและมี LAAB เข้ามาเสริมจะมีประโยชน์ต่อกลุ่มเปราะบางที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดี

พญ.ปิยนิตย์ ธรรมาภรณ์พิลาศ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์เด็กอายุ 6 เดือน - น้อยกว่า 5 ปี 1 ขวดบรรจุ 10โดส ขนาดฉีด 0.2 มิลลิลิตรหรือ 3 ไมโครกรัม ฉีด 3 เข็ม โดยเข็มแรกและเข็มสอง เว้นระยะห่าง 3- 8 สัปดาห์ แต่แนะนำ 4 สัปดาห์ ส่วนเข็มสามเว้นระยะห่าง 8 สัปดาห์ขึ้นไป ผลการศึกษามีความปลอดภัย อาการข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น ปวดบวมแดงบริเวณที่ฉีด มีไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร พบได้ทั้งเข็ม 1-3 อาการรุนแรงที่พบ บางคนเพียงผื่นขึ้น ตัวบวมจากการแพ้ แต่ไม่มีอาการช็อกถึงเสียชีวิต จากการศึกษาประสิทธิผลพบว่า ฉีด 2 เข็มภูมิไม่สูงมาก ต้องฉีด 3 เข็ม โดยประสิทธิผลต่อสายพันธุ์โอมิครอนหลังฉีดครบ 3 เข็มอย่างน้อย 7 วันอยู่ที่ 75-80% แต่ประสิทธิผลการป้องกันติดเชื้อลดลงเร็วมาก จึงอย่าหวังเรื่องป้องกันติดเชื้อ แต่เราหวังป้องกันอาการรุนแรงและลดเสียชีวิต


"แนะนำให้เด็กทุกคนฉีด โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงอาการรุนแรง เช่น ทารกอายุน้อยกว่า 1 ปี ทารกคลอดก่อนกำหนด โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง หอบหืดอาการปานกลางถึงรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง ไตวายเรื้อรัง มะเร็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เบาหวาน กลุ่มโรคพันธุกรรม กลุ่มอาการดาวน์ มีภาวะบกพร่องทางประสาทรุนแรง เด็กที่มีัพัฒนาการช้า เป็นต้น ส่วนข้อระวัง คือ หากพบกล้ามเนื้อหัวใจหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบที่สัมพันธ์กับวัคซีน mRNA ให้หยุดฉีด" พญ.ปิยนิตย์กล่าวและว่า การรับวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ ไม่เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน ฉีดได้ที่ รพ. รพ.สต.ตามที่จังหวัดบริหารจัดการ คาดว่าจะเริ่มฉีดกลาง ต.ค.นี้ ส่วนกรณีเด็กฉีดเข็ม 1 ในช่วงอายุ 4 ปีกว่า แต่เข็ม 2 อายุเกิน 5 ปี ให้ฉีดไฟเซอร์ฝาส้มสำหรับเด็ก 5-11 ปี ส่วนกรณีระหว่างฉีดแล้วติดโควิดให้เว้นระยะ 3 เดือนค่อยฉีด ทั้งนี้ สามารถฉีดพร้อมวัคซีนพื้นฐานอื่นได้

ด้าน นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มคนที่ควรได้รับ LAAB คือผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง ตอบสนองต่อวัคซีนน้อยกว่าคนทั่วไป และผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนโควิดได้หรือมีอาการแพ้ จากผลการศึกษาพบป้องกันโควิดแบบมีอาการในระยะ 3 เดือนได้ 77% และระยะ 6 เดือนป้องกันได้ 83% สามารถลบล้างฤทธิ์ต่อทุกสายพันธุ์ที่ระบาดในปัจจุบันรวมถึง BA.4/BA.5 ทั้งนี้ เมื่อฉีด LAAB แล้ว ร่างกายเอาภูมิคุ้มกันไปใช้ได้เลย ต่างจากวัคซีนที่ต้องรอสร้างภูมิคุ้มกัน 2 สัปดาห์ ย้ำว่า LAAB ไม่สามารถนำมาทดแทนวัคซีนโควิด แนะนำว่า กลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มที่ไม่สามารถสร้างภูมิต้านทานได้ หลังรับวัคซีนโควิดแล้ว ควรมารับเข็มกระตุ้นจนครบ และค่อยมารับ LAAB เพิ่มเติมตามคำแนะนำแพทย์


สำหรับ LAAB เป็นยา 2 ชนิดบรรจุ 2 ขวด ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณสะโพกชนิดละข้าง ข้างละ 1.5 มล. ผลข้างเคียงน้อยมาก ส่วนใหญ่ปวด บวม หายได้เองใน 2-3 วัน แต่หลังฉีด 1 ชั่วโมงต้องติดตามอาการข้างเคียงอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันมีการใช้ LAAB ทั้งป้องกันโควิด คือ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และไทย รวมถึงใช้ส่วนใช้รักษาแบบคนไข้นอก คือ ยุโรป สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ส่วนไทยอาจมีคำแนะนำตามมาในอนาคต ซึ่งขณะนี้คำแนะนำการให้ LAAB คือ ผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป น้ำหนัก 40 กิโลกรัม กลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยไตวายที่ได้รับการฟอกเลือด ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ/ปลูกถ่ายไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ โรคแพ้ภูมิตัวเอง ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยตามข้อบ่งใช้ที่ อย.สหรัฐอเมริกา หรือ อย.ไทยอนุมัติ และผู้ป่วยที่อาจมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นต้น ไม่มีข้อห้ามเรื่องการเว้นระยะห่างเข็มถัดไป แต่มีข้อมูลการศึกษากลุ่มย่อย พบว่า คนไข้ที่รับ LAAB เมื่อมารับวัคซีนโควิดพบว่า ภูมิคุ้มกันขึ้นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น