xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์ห่วงตื่นตัว "ฝนตกน้ำท่วม" เกินพอดี ทำสุขภาพจิตเสีย แนะวางแผนแก้ปัญหาร่วมครอบครัว-ชุมชน ช่วยลดโกรธ-เครียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิตแพทย์แจงปฏิกิริยา "ตื่นตัว" ห่วงฝนตกน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติ ช่วยรับมือแก้ปัญหาได้ แต่หากมากเกินไปอาจว้าวุ้นใจจนเคีรยด กระทบสุขภาพจิต แนะประเมินความเครียดเบื้องต้น วางแผนแก้ปัญหาร่วมกับครอบครัวและชุมชน แทนรอการช่วยเหลืออย่างเดียว ช่วยลดความโกรธและเครียดลงได้

เมื่อวันที่ 4 ต.ค. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีประชาชนเกิดความเครียดวิตกกังวลถึงน้ำท่วมจากฝนตก ว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่น้ำท่วมหรือยังไม่ท่วม ทุกคนต้องเตรียมรับมือ ความตื่นตัวเป็นปฏิกิริยาธรรมชาติของมนุษย์ที่จะต่อสู้เมื่อมีสิ่งที่เข้ามาคุกคาม น้ำท่วมก็เป็นหนึ่งในสิ่งคุกคามชีวิตของเราทุกบ้านทุกครอบครัว เราก็ตื่นตัวสู้กับสภาวะเหล่านี้ แต่ปัญหาคือหากความตื่นตัวมากเกินไปจะกลายเป็นความว้าวุ่นใจ ทำให้นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ก็จะทำให้จากที่เราตั้งรับได้ดีก็เป็นไม่ดี ฉะนั้น แง่ของสุขภาพจิตคือ เราต้องตื่นตัวแต่ไม่รุนแรงจนบ่อนทำลายสุขภาพจิต โดยจะต้องรู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มความเครียดแบบใด มากเกินไปหรือยัง ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีแพลตฟอร์มประเมินความเครียดเบื้องต้นผ่าน Mental health check in ที่จะมีคำแนะนำต่างๆ ให้เราจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม

“แม้ว่าความเครียดของเราจะอยู่ในระดับที่โอเค ยังมีความกังวลใจก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ ความตื่นตัวมากเกินจนทำลายสุขภาพกาย สุขภาพจิต หากประเมินแล้วพบว่า มีความเครียดมาก ก็จะมีคำแนะนำต่างๆ เช่น การฝึกสมาธิคลายเครียด หายใจคลายเครียด เพื่อให้เราจัดการได้ดีขึ้น” นพ.ยงยุทธ กล่าว

นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า การเตรียมรับมือกับสถานการณ์ รู้จักวางแผนที่จะแก้ปัญหา คนในครอบครัวร่วมกันคิดว่าจะจัดการอย่างไร อย่าทะเลาะกัน จะช่วยให้เราเตรียมรับมือได้ดีขึ้น ไม่ทำให้ความเครียดลุกลามเป็นความเครียดที่มากเกินไป หลายคนมีความเครียดแต่ไม่รู้ตัวหรือไม่ยอมรับ จึงต้องอาศัยครอบครัวในการช่วยกันดูแลป้องกันและแก้ปัญหา อย่าคิดไปว่าตอนนี้มีแค่เรา เพราะยังมีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือสนับสนุน เช่น รัฐบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำงานร่วมกันช่วยเหลือประชาชนให้ใช้ทรัพยากรของชุมชนให้ดีขึ้นให้สถานการณ์ดีขึ้น เฉพาะครอบครัวเดียวหาทางออกด้วยตัวเองคงไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชน

“ถ้ากรณีน้ำท่วมมากแล้วต้องไปอยู่ศูนย์อพยพก็ต้องไป หลายคนไม่ยอมไป เพราะไม่อยากทิ้งบ้าน ฉะนั้นหลักการของศูนย์อพยพจะต้องให้คนในชุมชนเดียวกันได้อยู่ร่วมกัน ได้ช่วยกันดูแลกัน เช่น ดูแลผู้สูงอายุ เด็ก อาหารการกิน สุขอนามัย ไม่ใช่รอให้คนนอกเข้ามาช่วยเหลือ เพราะการช่วยเหลือกันจะเกิดความเข้มแข็งภายใน คุณภาพการเผชิญหน้ากับความเครียดจะดีขึ้น หากเรารอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว ก็อาจไม่พอใจกับความช่วยเหลือนั้น ยิ่งทำให้เกิดความโกรธ ความเครียดไปกันใหญ่ แต่ถ้าเรามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ทุกคนจะรู้สึกเป็นเจ้าของปัญหา ร่วมกันแก้ไข ทำให้ความเครียดลดลงได้” นพ.ยงยุทธ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น