xs
xsm
sm
md
lg

พบคน "อุบลฯ - ศรีสะเกษ" พลังใจยังสูง หลังเจอวิกฤตน้ำท่วม ภาคกลางยังระส่ำ แนะวิธีพูด "สูงวัย" ห่วงบ้านไม่ยอมอพยพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิตพบ "อุบลฯ – ศรีสะเกษ" ยืนหยุ่นทางใจสูง โต้วิกฤตน้ำท่วมได้ดี มีความเครียด 2% เท่าคนทั่วไป เหตุชุมชน เครือญาติเอื้อเฟื้อ เข้าถึงความปลอดภัยเร็ว เผยภาคกลางยังระส่ำระสายลงพื้นที่ดูแลแล้ว พร้อมแนะวิธีสื่อสาร "ผู้สูงอายุ" ห่วงบ้านข้าวของ ไม่ยอมอพยพ

เมื่อวันที่ 3 ต.ค. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการติดตามประเมินผล และดูแลสภาพจิตใจของประชาชนพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม พบว่าบางพื้นที่ เช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ประชาชนค่อนข้างมีความยืดหยุ่นทางใจ มีพลังความเข้มแข็งทางจิตใจสูง หลังคัดกรองพบว่า มีความเครียดรุนแรงที่ต้องดูแลประมาณ 2% ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับประชาชนทั่วไปที่มีความเครียดในการดำรงชีวิตปกติอยู่แล้ว แน่นอนว่าความเครียดเล็กน้อย เป็นภาวะที่เจ้าตัวสามารถจัดการได้ ต้องการความช่วยเหลือน้อย ชุมชนดูแลกันเองได้ เป็นเรื่องที่ต้องชื่นชมที่มีความเข้มแข็งมาก

“จากการวิเคราะห์ว่าทำไมพลังจิตใจที่มีสูงสามารถตั้งหลักสู้กับวิกฤตได้นั้น เราพบว่าความใส่ใจระหว่างกัน เช่น เครือญาติ ชุมชน ทำให้พวกเขาเข้าสู่ภาวะของความปลอดภัยเร็ว ก็จะมีความสงบทางจิตใจเร็ว มีความหวังในการกอบกู้วิกฤตร่วมกัน ล่าสุด มีข้อมูลพื้นที่ภาคกลางที่กำลังระส่ำระสาย กรมฯ เร่งลงพื้นที่ช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมาที่พระนครศรีอยุธยาและรอบๆ" พญ.อัมพรกล่าว


พญ.อัมพรกล่าวว่า ส่วนกรณีที่หลายคนคาดการณ์ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะรุนแรงกว่าที่เคยเผชิญ การคาดการณ์เป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราเตรียมตัวรับมือ ก็จะช่วยลดความเสียหาย ลดความเครียดได้ แต่ไม่ใช่คาดการณ์แล้วคิดว่าทุกอย่างจะเลวร้ายไปหมด ซึ่งที่ผ่านมาตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เราก็สามารถผ่านมันไปได้ ดังนั้นตอนนี้เราก็จะผ่านไปได้เช่นกัน สำหรับผู้สูงอายุที่ห่วงบ้าน ห่วงข้าวของ ต้องเข้าใจกลไกของผู้สูงอายุที่อยู่บ้านหลังนั้นมาทั้งชีวิต มีความผูกพัน รู้สึกสำคัญเท่าชีวิตตน ทำให้พบว่าหลายคนไม่ยอมทิ้งไปไหน ขอให้ลูกหลานอย่าบังคับ หรือหักหาญด้วยความโกรธเคืองว่าต้องออกจากบ้าน ขอให้มีสติในการสื่อสารด้วยคำพูดให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจว่าบ้านจะอยู่ตรงนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล ถ่ายภาพให้เห็นเป็นระยะ ให้รู้ว่าไม่ได้ทิ้งบ้านไปไหน จะช่วยให้ผู้สูงอายุรับฟังและปรับตัวได้ รู้ว่าต้องไปอยู่ในที่ปลอดภัยเพื่อกลับเข้ามาดูแลบ้านอีกครั้งหลังน้ำลด เช่นเดียวกับข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหาย บางอย่างเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจของผู้สูงอายุ อย่าไปเน้นให้ผู้สูงอายุทำใจ ตัดใจ แต่ให้รับฟังความรู้สึกของท่านให้มาก กอดท่าน อย่าปฏิเสธการรับฟังเมื่อผู้สูงอายุแสดงความหม่นหมอง

“หลายครั้งที่เราก้าวข้ามการรับฟังความรู้สึกของคนรอบข้าง ผู้สูงอายุ ไปสู่การบอกให้ตัดอกตัดใจ ทำให้กลายเป็นว่ากระบวนการสื่อสารไม่เข้าอกเข้าใจกัน ทำให้ผู้สูงอายุยังเก็บความทุกข์เอาไว้ ลูกหลานสั่ง แนะนำว่าให้หยุดพูด แต่ให้ทำเช่นนั้นเช่นนี้ ก็จะกลายเป็นความเก็บกดทางอารมณ์ ขณะที่ลูกหลานอาจจะไม่เข้าใจผู้สูงอายุ ก็กลายเป็นความเกรี้ยวกราด โกรธ ทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวเสีย เพิ่มเติมจากข้าวของที่เสียหายไปอีก” พญ.อัมพร กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น