คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติยกเลิกประกาศมาตรการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 และประกาศที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ มีผลวันที่ 1 ต.ค.นี้
เมื่อวันที่ 30 ก.ย.นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีรายละเอียดสำคัญ
ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีประกาศเรื่องยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ประกาศ ข้อกำหนด และคำสั่งที่เกี่ยวข้อง ลงวันที่ 29 ก.ย.2565 ประกอบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีประกาศ สธ. เรื่องยกเลิกประกาศกระทรวงฯ เรื่องชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2563 พ.ศ.2564 พ.ศ.2565 ลงวันที่ 19 ก.ย.2565 ทำให้โควิด-19 เปลี่ยนสถานะจากโรคติดต่ออันตราย เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไปนั้น
เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (6) และมาตรา 35 (1) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 23 มิ.ย.2565
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 11/2565 เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2565 จึงให้ยกเลิกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ออกในช่วงเวลาที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ลงวันที่ 25 มี.ค.2563 และประกาศขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นไป