xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ประกาศปิดศูนย์ EOC โควิด หลังคุมเข้มออกมาตรการยาว 2 ปี 8 เดือน เหลือเฝ้าระวังระดับกรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.ปิดศูนย์ EOC โควิดระดับกระทรวง หลังดำเนินงาน 2 ปี 8 เดือน ประชุมกว่า 482 ครั้ง ออกข้อสั่งการ 480 ฉบับ รวม 3,259 ข้อสั่งการ ลดเหลือ EOC ระดับกรม ยันยังเฝ้าระวังโรคโควิด 19 ใกล้ชิดต่อไป

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผอ.กองสาธารณสุขฉุกเฉิน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงการปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) ว่า สธ.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2563 ซึ่งขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 ดีขึ้น วันนี้ สธ.จึงยุติบทบาท EOC โรคโควิด 19 ระดับกระทรวง กลับไปเป็น EOC ระดับกรม ซึ่งยืนยันว่าจะยังมีการติดตามเฝ้าระวังโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิดต่อไป และพร้อมยกระดับกลับมาเป็นระดับกระทรวงหากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินงานของ EOC โควิด 19 รวม 2 ปี 8 เดือน มีการประชุมรวม 482 ครั้ง ออกข้อสั่งการ 480 ฉบับ รวมข้อสั่งการ 3,259 ข้อ แบ่งเป็นกลุ่มภารกิจ 2,648 ข้อ และพื้นที่ 611 ข้อ รวมถึงมีการประชุมทางไกลวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทุกหน่วยบริการทั่วประเทศ เพื่อสื่อสาร/สั่งการ และติดตามการดำเนินงานระดับพื้นที่ 67 ครั้ง

"ศูนย์ EOC โควิด 19 ไม่ได้มีแค่ สธ. แต่มีอาจารย์แพทย์จากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม ต้องขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งการที่ประเทศไทยควบคุมโรคโควิด 19 ได้ดี ปัจจัยหนึ่งคือเรามีข้อสั่งการชัดเจนออกไปทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง" นพ.วิทูรย์กล่าว


นพ.วิทูรย์กล่าวว่า ตัวอย่างมาตรการควบคุมโรคหลายมาตรการที่กำหนดภายใต้ EOC โควิด ซึ่งบางมาตรการก็เป็นมาตรการแรกๆ ของโลก และหลายประเทศนำไปใช้ อย่างตอนเหตุสมุทรสาครเราใช้ Bubble and Seal ควบคุมพื้นที่ แบ่งพื้นที่เป็นไข่ขาว ไข่แดง ทำให้ควบคุมโรคให้ตรงประเด็นสถานการณ์ การมียุทธศาสตร์ขนมครก ช่วยจัดการเรื่องวัคซีน ฉีดเป็นกลุ่มๆ เหมือนขนมครก ในคลัสเตอร์โรงงานมีมาตรการร่วมกระทรวงอุตสาหกรรมและสภาอุตสาหกรรมทำ Good Factory Practice ควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย และเปิดดำเนินการให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ การมียุทธศาสตร์ "นนก" นำหนึ่งก้าว กระตุ้นประชาชนให้รับข้อมูลเชิงรุก ทำงานเชิงรุก การจัดตั้ง รพ.บุษราคัมเพื่อกู้สถานการณ์ กทม. ที่มีคนไข้ล้น รพ.ในพื้นที่ ไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง โดยระดมบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งเริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2564 บางช่วงมีจำนวนเตียงดูแลมากกว่า 3 พันเตียง โดยจำหน่ายผู้ป่วยคนสุดท้ายวันที่ 20 ก.ย. 2564 รวม 130 วัน ดูแล 20,436 คน

นพ.วิทูรย์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังรับนโยบายในการเปิดประเทศ โดยกำหนดนโยบายแซนด์บ็อกซ์ Test&Go และ SHA+ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว การกำหนดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวสีฟ้า รวมถึงพยายามควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดครั้งต่อไป ด้วย COVID Free Setting ในสถานประกอบการต่างๆ ขณะที่หลังเริ่มมีการผ่อนคลาย ประชาชนสามารถกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน ก็มีมาตรการ "เจอ แจก จบ" และการเตรียมความพร้อมสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ก็ออกมาตรการ 2U และ 3 พ คือ เน้นป้องกันตนเองและการฉีดวัคซีน มีบุคลากร เตียง ยาเวชภัณฑ์เพียงพอ มาตรการ DMHT ที่ให้ทุกพื้นที่ยังปฏิบัติ มาตรการเรื่องการจัดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งมีการจัดซื้อ 156.2 ล้านโดส การฉีดเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 วางแผนการบริหารยาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ การจัดระบบการดูแลแบบ Home Isolation / Community Isolation รวมถึงเรื่องของการตรวจ ATK


กำลังโหลดความคิดเห็น