สปสช.ยันหลัง 1 ต.ค. ผู้ป่วยโควิดยังรับการรักษาฟรีตามสิทธิ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ยังใช้บริการ "เจอ แจก จบ" ผ่าน 4 แอปพลิเคชันได้ตามปกติ แต่ยุติการแจก ATK ผ่านเป๋าตังที่ร้านยา ส่วน UCEP Pluis ยังไม่ยกเลิก มีอาการฉุกเฉินวิกฤตใช้สิทธิได้
เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวสิทธิการรักษา "โควิด" หลังเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังวันที่ 1 ต.ค. 2565 ว่า ในเรื่องของสิทธิการรักษาโควิดหลังวันที่ 1 ต.ค.นั้น ยังสามารถรับบริการรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิ ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ข้าราชการ และประกันสังคม ดูแลรักษาตามอาการและตามดุลยพินิจแพทย์ ทั้งนี้ การรักษาแบบเจอ แจก จบ กรณีไม่มีอาการหรือไม่มีอาการที่ไปพบแพทย์ที่ รพ. เพื่อรับการวินิจฉัยและจ่ายยาตามอาการนั้น ก็มีรูปแบบของเทเลเฮลธ์ผ่าน 4 แอปพลิเคชัน โดยพบแพทย์ทางไกล วินิจฉัยอาการ และหากต้องจ่ายยาก็จะส่งยาผ่านไปรษณีย์นั้น ไม่ว่าสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือหลักประกันสุขภาพยังสามารถรับบริการได้ตามปกติ ส่วนเรื่องการแจก ATK ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังไปรับที่ร้านยาสำหรับสิทธิหลักประกันฯ ก็จะยุติการแจก ATK แต่หากไป รพ.แล้วแพทย์พิจารณาเห็นว่าควรตรวจคัดกรอง ก็จะไม่มีค่าใช้จ่าย เพราะเบิกมายัง สปสช.ได้
"สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักสามารถรับการรักษาเป็นผู้ป่วยในใน รพ.ตามสิทธิเช่นกัน ส่วนกรณีการใช้สิทธิ UCEP Plus เนื่องจาก ครม.ยังไม่มีมติยกเลิก หากเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตโควิดก็ยังสามารถใช้สิทธิได้" ทพ.อรรถพรกล่าวและว่า ส่วนเรื่องของการเบิกจ่ายของ รพ.เปลี่ยนจากงบเงินกู้มาเป็นงบปกติ แต่ยืนยันว่าประชาชนยังรับบริการได้โดยไม่ได้รับผลกระทบ โดยค่าเยียวยาความเสียหายจากวัคซีนโควิด 19 สิทธิบัตรทองยังยื่นเรื่องได้โดยใช้หลักเกณฑ์และอัตราจ่ายตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ
ถามว่าวันที่ 1 ต.ค. ผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อยใช้เข้ม DMHT 5 วัน ยังต้องมารับการรักษาหรือไม่ หรือใช้เพียง DMHT ก็เพียงพอ ทพ.อรรถพรกล่าวว่า ตรงนี้แล้วแต่การตัดสินใจของประชาชน เนื่องจากไม่ได้มีข้อบังคับ หากมารับบริการรักษาพยาบาลก็สามารถมารับบริการได้