สธ.แจงหลัง "โควิด" เป็นโรคเฝ้าระวัง ยังแนะนำฉีดกระตุ้นทุก 4 เดือน โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ส่วนจะฉีดปีละ 1-2 ครั้งเหมือน "ไข้หวัดใหญ่" หรือไม่ ต้องรอข้อมูลเพิ่มเติม "อนุทิน" ย้ำเข็ม 2-3 ไม่พอ อยากใช้ชีวิตปกติควรฉีดเข็ม 4 หากจำเป็นต้องทำงานคนหมู่มากฉีดเข็ม 5 ได้ แจงยังมีระบบรายงานเฝ้าระวัง ไม่ได้ยกเลิก
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการฉีดวัคซีนโควิด 19 หลังปรับเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังและในปี 2566 ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 4 เข้มแล้ว ตามสถิติการเจ็บป่วยที่มีการรุนแรงหรือเสียชีวิต ถ้าไม่ใช้โรคแทรกซ้อนอื่นถือว่าเป็นศูนย์ ปัจจุบัน สธ.ขอให้ประชาชนที่รับวัคซีนเข็ม 3 เกิน 4 เดือนแล้ว ให้มารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน วันนี้ชัดเจนมาว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่สามารถป้องกันการเจ็บป่วยที่มีอาการรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตได้ คือสิ่งที่ สธ.ต้องขอความร่วมมือประชาชน ส่วนเข็มที่ 5 ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของประชาชนอาชีพ การงาน ถ้าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงอยู่ท่ามกลางประชาชนจำนวนมาก เช่น ทำงานตามภัตตาคาร สถานบันเทิง สถานบริการขนส่ง หรือธุรกิจใดๆ ที่ต้องอยู่ท่ามกลางหรือให้บริการคนหมู่มาก มีความใกล้ชิดไม่สามารถเว้นระยะห่างไม่ได้ ก็สมควรที่จะมารับวัคซีนเข็มที่ 5 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันมากขึ้น ตอนนี้ดูแล้วว่าเข็ม 2 เข็ม 3 ไม่อยู่ในจุดที่จะใช้ชีวิตปกติ ต้องเข็ม 4 น่าจะทำให้มีคุณภาพชีวิตและมีการดำเนินชีวิตที่ดีได้
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้คำแนะนำกลุ่ม 608 ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนทุก 4 เดือนอยู่ แต่หลังจากนี้ไปที่เราคาดหวังว่า จะมีการฉีดวัคซีนเหมือนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง ขณะนี้ข้อมูลทั่วโลกยังไม่มีใครสามารถออกคำแนะนำแบบนั้นได้ แต่คาดว่าในระยะต่อไปน่าจะฉีดปีละ 1-2 ครั้งซึ่งขึ้นกับ 2 ปัจจัยคือ 1.ถ้าเชื้อไม่มีการกลายพันธุ์ไปอย่างมาก น่าจะเพียงพอ และ 2.วัคซีนรุ่นใหม่ๆ ที่จะสามารถครอบคลุมได้ดีขึ้น ตอนนี้ยังยืนยันคำแนะนำเดิมอยู่ แต่เมื่อมีข้อมูลใหม่หรือเหตุการณ์ใหม่ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคจากออกคำแนะนำสำหรับประชาชนต่อไป
ถามว่าคนทั่วไปที่ฉีดครบ 3 เข็มแล้ว ไม่อยู่ในกลุ่ม 608 ยังแนะนำให้ฉีดหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ยังแนะนำให้ฉีด ประชาชนทั่วไปสามารถฉีดเข็มกระตุ้นได้ทุก 4 เดือนเป็นไปตามความสมัครใจ ซึ่งเรามีวัคซีนเพียงพอ
ถามว่าวัคซีนที่มีและอยู่ในสัญญา 42 ล้านโดส ยังเพียงพอหรือไม่ ต้องจัดซื้อเพิ่มหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เราคำนวณตามประชากรและการฉีดเพียงพอไปอย่างน้อย 6 เดือน ถ้าภายหน้ามีความจำเป็น มีวัคซีนมีประสิทธิภาพรุ่นใหม่ก็ให้พิจารณาจัดหา ถือว่ามีวัคซีนเพียงพอ
นายอนุทินกล่าวว่า ทุกวันนี้ฉีดกระตุ้นภูมิ คนน้อยมากที่ยังไม่ได้ฉีด ปีที่แล้วเราต้องฉีดตามสูตรของเขา 2 เข็ม ห่าง 2 เดือนโดยเฉลี่ย แต่เข็มกระตุ้นไม่ต้องเป้นคู่เป็นเซ็ตไปตลอด ซึ่งตอนนี้จากการพัฒนาวัคซีนโควิดเวลายังไม่พอที่จะบ่งชี้ชัดเจนว่า วัคซีนฉีดแล้วจะอยู่ได้ 12 เดือนเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดปีละเข็ม การฉีดเข็มกระตุ้นก็เป็นสิ่งที่ สธ.แนะนำ ความปลอดภัยผลข้างเคียงมีแต่น้อยมาก ไม่สามารถนำมาคำนวณเป็นนัยสำคัญให้เราเปลี่ยนนโยบายวัคซีน และวัคซีนที่เรามีก็มีคุณภาพ มีการศึกษา วัคซีนทุกชนิดดีหมด ป้องกันความรุนแรงจากโควิดได้หมด มีการพิสูจน์ศึกษาและยืนยันจากคณะแพทย์ และผู้ผลิต ผู้ที่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้นให้รีบมารับ
เมื่อถามว่ายังต้องคงระบบการรายงานผู้ป่วยโควิด 19 หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า เรายังมีระบบรายงาน โดยในระยะต่อไปจะเน้นระบบเฝ้าระวังที่จัดวางไว้ 4 ระบบ เน้นตัวเลขสำคัญคือตัวเลขผู้รักษาใน รพ.และผู้เสียชีวิต สำคัญคือคนฉีดวัคซีนมีภูมิคุ้มกันแล้ว คนไม่มีอาการและอาจจะติดเชื้อโดยไม่มีอาการ ถือว่าไม่ค่อยมีปัญหามากนัก สอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลก ซึ่งคนที่ไม่มีอาการเราพิสูจน์ได้ยาก สถานการณ์ตอนนี้เหตุการณ์ต่างจากปีที่แล้วมาก จึงอย่ากังวลมากนัก เรามีระบบเฝ้าระวังที่ตรวจจับเหตุการณ์ผิดปกติได้ ส่วนการใส่หน้ากากอนามัยขึ้นกับสถานการณ์และความเสี่ยง แม้จะมีคนติดเชื้อแต่เราอยู่ในสถานที่ไม่แออัด อากาศถ่ายเทสะดวก โอกาสติดเชื้อก็ดีน้อย
"ต้องเข้าใจว่าเหตุการณ์วันนี้กับ 2 ปีที่แล้วต่างกันมาก เรายังติดภาพเดิมๆ สมัยที่โรคโควิด 19 ยังเป็นโรคติดต่ออันตราย สมัยยังไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มียารักษา เหตุการณ์ผ่านไป 2 ปีคนไทยมีภูมิคุ้มกันเกือบทั้งหมดแล้ว มียารักษาที่มีประสิทธิภาพ มีระบบเฝ้าระวังและวัคซีนเข็มกระตุ้น คงไม่ต้องกังวลเกินเหตุ มิเช่นนั้นคงกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ยาก ทั้งนี้ ย้ำว่าระบบเฝ้าระวังไม่ใช่การสะสมตัวเลขที่ถูกต้อง 100% คือการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ผู้บริหารตัดสินใจในการออกมาตรการต่างๆ ควบคุมโรคระบาด" นพ.โอภาสกล่าว
ถามย้ำว่าจะยุติการรายงานประจำวันตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ข้อมูลมีตลอดสามารถติดต่ามได้หลายแหล่ง เราไม่ได้ยุติการเก็บข้อมูลรวบรม ระบบเฝ้าระวังยังทำต่อเนื่อง เรามีการประเมินสถานการณ์และมาแจ้งประชาชนทราบเมื่อเหตุการณ์ผิดปกติหรือต้องขอความร่วมมือ
นายอนุทินกล่าวว่า ประชาชนทั่วไปเมื่อก่อนเราดูข้อมูลทุกวันติดกี่พันกี่หมื่นคน เสียชีวิตกี่คน แต่จากนี้ไปคนไม่ใช่แพทย์ก็จะไม่ไปดูในเรื่องที่คนในระบบสาธารณสุขเขาต้องติดตามตามหน้าที่ เราก็ดูเพื่อเป็นข้อมูลไม่ต้องดูทุกวัน
ถามถึงกรณีคนยังกังวลคนติดเชื้อไม่มีอาการ นายอนุทินกล่าวว่า หากยังกังวลก็ใส่หน้ากากอนามัย เพราะไม่มีใครห้าม ให้ประเมินตามความเสี่ยง เช่น ไป รพ.เยี่ยมเพื่อน หรือไปคอนเสิร์ตคนเยอะๆ ก็ควรใส่หน้ากากเข้าไป ต้องดูว่าเข้าไปตรงนี้ประเมินความเสี่ยงอย่างไร หากทุกคนมีระยะห่างไปสวนลุมต่างๆคนต่างวิ่งมีระยะห่าง เข้าไปภัตตาคารที่ไม่มีใครไอจาม สภาพแวดล้อมไม่เสี่ยงก็อาจรีแลกซ์ไม่ใส่หน้ากากไปบ้างคิดว่าประชาชนประเมินได้