xs
xsm
sm
md
lg

ถามซ้ำๆ จำวันเวลา-สถานที่ในอดีตไม่ได้ สัญญาณเตือน "อัลไซเมอร์" พบสูงสุดในกลุ่มสมองเสื่อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบสูงอายุ "สมองเสื่อม" 5.43% หรือกว่า 6.5 แสนคน มาจาก "อัลไซเมอร์" มากที่สุด เกิดจากการสะสมของโปรตีนผิดปกติในระบบประสาท ทำลายเซลล์ประสาทและสมองฝ่อ มักพบในสูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เริ่มถามซ้ำๆ จำวันเวลา สถานที่เหตุการณ์ในอดีตไม่ได้

เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ในปี 2565 ซึ่งมีประชากรผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด โดยหน่วยงานราชการ เอกชน รวมถึงภาคประชาชนจำเป็นต้องมีความเข้าใจในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน หนึ่งในปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุที่สำคัญมาก คือ ภาวะสมองเสื่อม รายงานในปี 2563 ประมาณการว่ามีผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมถึง 651,950 คน จากผู้สูงอายุ 12 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 5.43 ของผู้สูงอายุทั้งหมด โดยมีโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของสมองเสื่อมที่สำคัญที่สุด ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเน้นการให้บริการสอดรับสังคมผู้สูงอายุ โดยการจัดระบบบริการผู้สูงอายุแบบองค์รวมในสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศในรูปแบบคลินิกผู้สูงอายุ

นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผอ.สถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดทั่วโลก เกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในระบบประสาท ทำให้เกิดการทำลายเซลล์ประสาทและเกิดสมองฝ่อตามมา ปัจจัยเสี่ยงอาจเกิดได้จากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใด อาการที่พบบ่อยที่สุดมักเป็นผู้สูงวัยที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีปัญหาความจำบกพร่อง ผู้ป่วยจะเริ่มถามซ้ำ ๆ จำวัน เวลา และสถานที่ของเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ เมื่ออาการของโรคมากขึ้นผู้ป่วยอาจเสียความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวัน รวมถึงมีปัญหาพฤติกรรม เช่น หงุดหงิดง่ายขึ้น หลงผิด หรือมีอาการหลอนตามมา ท้ายที่สุดผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านสมรรถภาพสมองบกพร่องในทุกด้านจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งสร้างความยากลำบากมากขึ้นต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยและการดูแลของญาติ

"การรักษาปัจจุบันประกอบด้วยการรักษาทางยา ซึ่งจะช่วยชะลอให้ความจำเสื่อมถอยช้าลงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น การปรับพฤติกรรมหรือทำกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพความจำ รวมถึงการรักษากายและใจโดยรวมให้ดีก็เป็นส่วนที่สำคัญ สำหรับญาติหรือคนใกล้ชิดที่สงสัยว่ามีผู้สูงวัยใกล้ตัวมีอาการภาวะสมองเสื่อม ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาต่อไป" นพ.ธนินทร์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น