เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมร่วมกับสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเรื่องการป้องกันการเผาชีวมวลในที่โล่ง (การเผาที่นา พื้นที่การเกษตร การเผาขยะ) เพื่อเตรียมดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรของกรุงเทพมหานคร ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลจากสำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าในพื้นที่ด้านเกษตรปลูกข้าว(ข้าวนาปี64/65) มากที่สุด ประมาณ 80,988.03 ไร่ พื้นที่เก็บเกี่ยว 80,422.55 ไร่ มีเกษตรกร 3,295 ครัวเรือน พื้นที่เกษตรที่เหลือเป็นเกษตรพืชผัก ไม้ดอก ไม้ประดับไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพร และพืชไร่ รวมพื้นที่ปลูก 95,194.92 ไร่ ทั้งนี้ประมาณ 10% ที่ยังใช้การเผาในพื้นที่การเกษตรก่อนทำการเพาะปลูกในครั้งต่อไป โดยจะสถิติปี 2564 พบ พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 63/64 มีการเผา 11 จุด 6,875 ไร่ สถิติปี 2565 พบพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 64/65 มีการเผา 9 จุด 5,625 ไร่ซึ่งลดลง 2 จุด 1,250 ไร่ คิดเป็น 12.5% อยู่ในพื้นที่เขตคลองสามวา 1 จุดเขตลาดกระบัง 2 จุดเขตหนองจอก 6 จุด โดยเกษตรกรจะเริ่มเผาตั้งแต่เดือนธ.ค.-มี.ค. โดยพบว่าเดือนมี.ค.จะมีการเก็บเกี่ยวข้าวในพื้นที่เกษตรก่อนทำนามากที่สุด ประมาณ 37,747 ไร่ ซึ่งเกษตรกรยังมีทัศนคติว่าควรเผาพื้นที่เกษตรเพื่อเตรียมแปลงเกษตรก่อนทำนาเนื่องจากสะดวกในการเตรียมดิน
ทั้งนี้ กทม.เตรียมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกของเกษตรกร ด้วยการรณรงค์ให้การเผาซังตอข้าวเป็น 0% เพื่อลดปัญหามลพิษและฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานเขตลงพื้นที่ที่ยังมีการเผา เพื่อหาข้อมูลในการหาจุดเป้าหมายที่จะทำกิจกรรมรณรงค์ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร ด้วยการสร้างการรับรู้ การอบรม/สาธิต การประชาสัมพันธ์ รวมถึงสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา โดยให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรน้อยที่สุด เนื่องจากการเผาตอซังข้าวหลังการเก็บเกี่ยวเป็นวิธีที่ง่ายและมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้รถไถกลบตอซังข้าว ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานเขตร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีการรองรับ เช่น การช่วยเหลือด้วยรถไถกลบจากทางราชการ เป็นต้น รวมถึงการช่วยเหลือเกษตรกรด้วยรถอัดฟางก้อน และเตรียมหาตลาดเพื่อรองรับฟางข้าว เช่น โรงงานผลิตไฟฟ้า เป็นต้น พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการการใช้ประโยชน์จากฟางข้าว จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์/สาธิต/ถ่ายทอดความรู้ เช่น การทำกระถางจากฟางข้าวและการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า การผลิตเป็นปุ๋ยหมัก เป็นต้น โดยให้กำหนดเป็น Action Plan เพื่อดำเนินการควบคู่กับการตรวจโรงงานในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา Pm2.5
อีกทั้งมอบหมายให้สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการขยายตลาดในรูปแบบ Farmers Market เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีตลาดในการระบายสินค้าเกษตรให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมส่งเสริมการรณรงค์ปลูกผักสวนครัวในรูปแบบเกษตรปลอดสารพิษ ในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า พื้นที่ว่างในอาคาร บ้านเรือน ชุมชน ให้มีผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคครัวเรือนและในชุมชน และต่อยอดถึงการจำหน่ายสู่ตลาดเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของเมือง และยังสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในเมืองได้อีกทางด้วย ซึ่งเบื้องต้นอาจมีการสนับสนุนให้เกิดโครงการปลูกพืชผักเกษตรปลอดสารพิษให้ได้ 200 แปลง (เฉลี่ยเขตละ 4 แปลง) ในเมือง โดยเป็นการกำหนดเพื่อเป็นการขยายผลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปในอนาคต
นอกจากนี้ ให้จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการเผาซากพืชหรือวัชพืช โดยมีปลัดกรุงเทพมหานครเป็นหัวหน้าคณะทำงานฯเพื่อให้ดำเนินการเห็นผลเป็นรูปธรรม พร้อมประสานงานกับหน่วยงานระดับจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันในภาพรวม และให้นำปัญหาการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้าสู่วาระการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานครในครั้งต่อไปเพื่อให้มีผลในการปฏิบัติ รวมถึงการเตรียมใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามอำนาจหน้าที่ของกทม.อาทิ การประกาศให้กรุงเทพมหานครเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อีกด้วย
การประชุมในวันนี้มี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นางอณุสรา ชื่นทรวง ผู้อำนวยสำนักพัฒนาสังคม ว่าที่ร้อยตรี วิรัช ตันชนะประดิษฐ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง นายอาคม ศรีประภาพงศ์ เกษตรกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องอัมรินทร์ ศาลาวาการกทม. เขตพระนคร
ในวันเดียวกันนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมหารือร่วมกับ นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานบริษัท เดย์ โพเอทส์ นายศิวะภาค เจียรวนาลี บรรณาธิการบริหาร a day นายเจมส์ มาร์ Thailand REC Leader บริษัท Net Zero Carbon ด้านความร่วมมือ ในโครงการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในกรุงเทพมหานคร(โครงการ BMA Net Zero) ซึ่งเป็นโครงการที่รณรงค์ให้คนกรุงเทพมหานครหันมาตระหนักถึงวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อน และกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในชื่อแคมเปญ “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” ที่เน้นกิจกรรมการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายโครงการคือ ให้กรุงเทพฯ เป็นมหานครเมืองแรกใน Southeast Asia ที่สู้กับปัญหา Climate Change ด้วยพลังของประชาชน โดยกทม. พร้อมร่วมมือ แต่จะต้องมาระดมความคิดกันในรายละเอียดร่วมกับอีกหลายฝ่าย เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ TGO(องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)) เป็นต้น โดยมีกทม. เข้าไปช่วยสื่อสารให้ภาครัฐและเอกชนประสานกันได้อย่างเข้มแข็งขึ้น