xs
xsm
sm
md
lg

มะเร็งปอด รู้เร็ว มีทางรอดก่อนลุกลาม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย...นพ.ณัฐชดล กิตติวรารัตน์ อายุรแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งวิทยา รพ.เวชธานี


“มะเร็งปอด” จัดเป็นมะเร็งอันดับต้น ๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยไปเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะแรกมักจะไม่แสดงอาการ กว่าจะมีอาการก็พบว่าเป็นระยะแพร่กระจาย ไม่สามารถหายขาดได้แล้ว ดังนั้นผู้ที่ความเสี่ยงมะเร็งปอด ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดปริมาณรังสีน้อย (Low Dose CT Scan) 

โรคมะเร็งปอดเกิดจากการที่เซลล์ในเนื้อปอด มีความผิดปกติ เกิดการแบ่งตัวมากจนไม่สามารถควบคุมได้ และเติบโตลุกลามรวมกันจนเป็นก้อนมะเร็ง และกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง และ เนื้อปอดส่วนอื่นๆ ทำให้ขัดขวางการทำงานของปอด ซึ่งมีหน้าที่หลักในการนำออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ ยังสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอื่น ๆ ได้ เช่น ตับ สมอง กระดูก โดยความร้ายแรงของมะเร็งปอดขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง 

โดยทั่วไป มะเร็งปอดในระยะเริ่มแรก มักไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อโรคลุกลามแล้วอาจมีอาการเช่นไอเรื้อรัง, ไอเป็นเลือด, มีเสมหะ, เสียงแหบ, หายใจไม่สะดวก, เจ็บหน้าอก, เหนื่อยง่าย ,อ่อนเพลีย มีแขนบวม หน้าบวม และน้ำหนักลด 

ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดในรายที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี และสูบบุหรี่มากกว่า 20 pack/year คือ 10 มวน = 0.5 ซอง/วัน ติดต่อกันมากกว่า 40 ปี (0.5x40=20), 20 มวน =1 ซอง/วัน ติดต่อกันมากกว่า 20 ปี(1x20=20) หรือ 40 มวน = 2 ซอง/วัน ติดต่อกันมากกว่า 10 ปี(2x10=20) รวมถึงผู้ที่เคยสูบบุหรี่จัดและหยุดบุหรี่มาแล้วไม่เกิน 10 ปี 

ผู้ที่สุบบุหรี่มือสอง ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่ ผู้ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีสารพิษ เช่น แร่ใยหิน สารเรดอน PM2.5 ทำกับข้าวที่มีเขม่าควัน และปิ้งย่าง บ่อยๆ และเป็นเวลานาน, ผู้ที่มีประวัติโรคปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง หรือ วัฒโรคปอด, ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งปอด 

การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดปริมาณรังสีน้อย (Low Dose CT Scan) ซึ่งเป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณทรวงอกด้วยปริมาณรังสีที่ต่ำให้ภาพ 3 มิติที่ให้รายละเอียดได้ดีในบริเวณปอด แม้ใช้ปริมาณรังสีไม่สูงมากและไม่ต้องฉีดสารทึบแสงก็สามารถตรวจพบจุดเล็ก ๆ หรือก้อนในปอดได้ดีกว่า การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำปีทั่วไปโดยการเอกซเรย์ปอด ซึ่งจะเห็นความผิดปกติ เมื่อก้อนมีขนากใหญ่เกิน 1.5-2 cm แล้ว 

หากพบว่า เริ่มมีก้อน หรือ จุดในปอด สามารถตรวจชิ้นเนื้อเพิ่มเติมได้ ซึ่งหากพบมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถหายขาดได้ แต่หากปล่อยให้ก้อน หรือ จุดในปอดโตขึ้น มะเร็งจะลุกลาม ยากต่อการรักษา และเป็นอันตรายถึงชีวิต 

หากใช้ชีวิตท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง และมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพเป็นประจำ และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งปอดได้ หรือหากตรวจพบก็สามารถรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที


กำลังโหลดความคิดเห็น