xs
xsm
sm
md
lg

พบฉีด LAAB ช่วยผู้ป่วยโควิด 105 ปี ไม่เคยรับวัคซีน ลดป่วยรุนแรง รอดตาย หายกลับบ้านเร็วกว่า 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เผยใช้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB รักษาผู้ป่วยโควิดอายุ 105 ปี ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน มีอาการค่อนข้างรุนแรง ปอดติดเชื้อ พบช่วยอาการดีขึ้นเร็ว รักษาหายกลับบ้านได้น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ย้ำกลุ่มเสี่ยงยังต้องฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน เล็งเพิ่มกลุ่มเป้าหมายรับ LAAB

เมื่อวันที่ 18 ก.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยได้จัดหาภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือ Long Acting Antibody (LAAB) มาฉีดให้แก่ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน คือ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ฟอกไต ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูกที่ได้รับยากดภูมิ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งหากติดเชื้ออาจเสี่ยงอาการรุนแรงหรือเสียชีวิตสูง ฉีดครั้งแรกที่สถาบันบำราศนราดูร เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 และส่งไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2565 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้สำรวจจำนวนผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ในสถานพยาบาลทุกสังกัด เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับภูมิคุ้มกันจาก LAAB อย่างทั่วถึง

นพ.โอภาสกล่าวว่า LAAB จะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน เมื่อฉีดเข้าไปแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิดได้สูงทันที ทำให้เกิดประโยชน์อย่างมาก ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว อย่างเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา รพ.แห่งหนึ่งรับผู้ป่วยโรคโควิด 19 อายุ 105 ปี ยังไม่เคยฉีดวัคซีนโควิด 19 มารักษา โดยมีอาการไข้สูง มีเสมหะ ค่าออกซิเจนในเลือดต่ำ ต่อมามีปอดติดเชื้อแบคทีเรีย ได้รับยาต้านไวรัสในวันแรก แต่มีอายุมากเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แพทย์จึงพิจารณาให้ LAAB แก่ผู้ป่วยด้วยในวันที่ 4 ก.ย. 2565 ร่วมกับยาปฏิชีวนะ

"ตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 2565 อาการผู้ป่วยค่อยๆ ดีขึ้น อาการปอดติดเชื้อน้อยลง ไข้ลง ค่าออกซิเจนในเลือดกลับมาปกติ และผู้ป่วยกลับบ้านได้วันที่ 14 ก.ย. รวมระยะเวลาที่ใช้รักษาน้อยกว่า 2 สัปดาห์ โดยการให้ LAAB น่าจะมีผลดีในการรักษาผู้ป่วยสูงอายุกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ยังเน้นย้ำผู้สูงอายุทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดโดยเร็วก่อนเกิดการติดเชื้อ" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า นอกจากนี้ กำลังพิจารณาเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นต้องได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด และฉายแสง, ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะที่ต้องได้รับยากดภูมิขนาดสูง, ผู้ป่วยโรคข้อที่ต้องรักษาด้วยยากดภูมิ และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำโรคอื่นๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น