xs
xsm
sm
md
lg

"อนุทิน" ขอกลับมาคุม สธ.อีก ไม่โกรธ "หมอชนบท" โพสต์ด่า ย้ำหมุนเงินบำรุง รพ.แสนล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อนุทิน" ขอบคุณบุคลากร สธ. ช่วยคุม "โควิด" จนลดระดับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เริ่ม 1 ต.ค.นี้ งบโควิดช่วยระบบสาธารณสุขเข้มแข็ง ปลดหนี้ เพิ่มเงินบำรุง มีเกือบแสนล้านบาท ย้ำอย่าเก็บไว้ ต้องเอาไปหมุนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจให้ รพ.ที่ต้องใช้เงินกู้ หรือจ้างหมอเกษียณมาดูแล ปชช.ต่อ ลั่นมีโอกาสกลับมาคุม สธ.อีก ขอโอกาสแก้ตัวสิ่งที่ไม่พอใจ ยันไม่โกรธแค้น "หมอชนบท" โพสต์ด่า จำยาวแต่ไม่เอาคืน

เมื่อวันที่ 15 ก.ย. ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติ ฉลองศิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเปิดมหกรรมจัดการความรู้จากบทเรียนโควิด 19 และการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2565 “การพัฒนาระบบสุขภาพที่ยั่งยืน หลังวิกฤตการณ์โควิด 19” ว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีการจัดประชุมวิชาการ สธ.ในบรรยากาศแบบนี้ ถ้าเราไม่ได้พบกันเลยก็จะทำให้ขาดความใกล้ชิดและความสัมพันธ์ที่ดี ทั้งนี้ ตนพูดตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งว่า ตนมาดี ต้องการเห็น สธ.เป็นที่พึ่งของประชาชน ซึ่งการทำงานก็ได้รับความไว้วางใจ ทำให้ผลลัพธ์มีประสิทธิภาพ อย่างช่วงโควิดทุกคนก็ร่วมกันต่อสู้มา ทำให้วันที่ 1 ต.ค.นี้ "โควิด" ถูกลดระดับจากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง

"เราอาจเกลียดโควิดในฐานะโรคติดต่อ แต่โควิดก็ให้โอกาสหลายอย่าง โควิดทำให้พื้นฐานระบบสาธารณสุขแข็งแกร่งขึ้น ไทยได้รับการยอมรับในเวทีโลกเรื่องระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ อย่างเรื่องเมดิคัล ฮับ ก็อยากจะมาประเทศไทยเพื่อเช็คอัพ รักษาตัว แม้ส่วนใหญ่อยู่ในระบบ รพ.เอกชน แต่ต้นตอก็มาจากพวกเราที่ทำให้ระบบสาธารณสุขดี รพ.เอกชนก็ไปดูแลเอาเงินจากคนที่มีฐานะจากต่างประเทศเข้ามา ทำให้เราได้ดูแลคนไทยที่จำเป็นต้องใช้บริการได้อย่างเต็มที่ มีระบบบัตรทองที่เฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เราทำ 3 หมอ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ฟอกไตฟรี ฯลฯ เพื่อให้คนไทยที่ป่วยได้รับการดูแล" นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวว่า ระบบสุขภาพเรามีความมั่นคงเข้มแข็ง มีรากฐานดี โควิดมาเสริมให้พร้อมมากขึ้น รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้การดูแลสุขภาพประชาชนใน รพ.ทุกแห่งเป็นไปด้วยดี และสามารถแก้ไขปัญหาเงินบำรุง รพ. ซึ่ง รพ.ในสังกัด สธ.เงินบำรุงเป็นบวกหมด ไม่มีภาวะขาดแคลนเหมือนก่อนโควิด จากเดิมทั่วประเทศเรามีเงินบำรุง 3 หมื่นล้านบาท และอยู่ใน รพ.ใหญ่ๆ ก็เพิ่มมาเกือบแสนล้านบาทและกระจายทั่วทุก รพ.ใหญ่น้อยทั้งประเทศ ทำให้เกิดความคล่องตัวว่าประเทศที่ต้องฟื้นตัว ถ้ามีปัญหาการจัดสรรงบประมาณบ้าง ก็มีเงินบำรุง รพ.ไปดูแลประชาชน เพิ่มศักยภาพ รพ. ดูแลบุคลากรในสังกัดตนเอง ก็ให้นโยบายชัดเจนว่าเงินพวกนี้ฝากไว้เฉยๆ ไม่ได้ ต้องเอาไปหมุนไปใช้ จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถ้าใช้ในระบบอยู่ในประเทศไทย ก็เกิดประโยชน์ทั้งสิ้น

"ยิ่งถ้าหมุนเงินเหล่านี้ลงไปในรูปของสินทรัพย์ การพัฒนาบุคลากร พวกนี้คือการลงทุนที่จะได้กลับมาเป็นดอกผล อย่าไปคิดว่าเป็นค่าใช้จ่าย หากเก็บเป็นเงินสด ก็มีภาวะเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อหรือปัญหาต่างๆ ขอให้วางแผนบริหารเงินให้ดี รพ.ไหนที่มีเงินมากต้องการช่วย รพ.ที่ต้องการใช้เงินก็ทำได้ อาจเป็นรูปแบบการกู้ยืมหรือเงินหมุน โดยมีองค์กรกลางคอยกำกับ หรืออย่างคนชอบบอกว่าแพทย์ขาดแคลน ปีหนึ่ง มีแพทย์เกษียณตั้งเท่าไร แต่ละคนยังแข็งแรง ทำไมไม่หาช่องทางให้ใช้ความเป็นแพทย์มาดูแลประชาชน มาถ่ายทอดความรู้ให้เด็กรุ่นใหม่ แพทย์รุ่นใหม่ ช่วยวางระบบประคับประคองให้แข็งแกร่ง โดยใช้เงินบำรุงต่างๆ เอามาสนับสนุน ก็ช่วยให้มีรายได้เลี้ยงชีพเพิ่มเติม ซึ่งอนาคตแค่เงินบำนาญเชื่อว่าไม่พอ ก็จะช่วยสร้างประโยชน์ให้ประเทศ ไม่เป็นภาระต้องไปเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ" นายอนุทินกล่าว


นายอนุทินกล่าวว่า ปกติเวลาไปพูดที่ต่างๆ มักพูดถึง อสม.หมอคนที่ 1 ก็ขอว่าแพทย์หรือนักวิชาการสาธารณสุขต่างๆ อย่าน้อยใจ เพราะ อสม.ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้ระบบสาธารณสุขขับเคลื่อน เป็น Backup ให้สาธารณสุข แต่ย้ำเราไม่เคยลืมบุคลากรทั้งหมดที่ต้องตอบแทนและดูแลในสิ่งที่เราทำได้ แต่จะไปเทียบกับ อสม.ไม่ได้ เพราะพวกเราเป็นข้าราชการ พนักงานราชการ ที่มีเงินเดือนมีรายได้ประจำ ช่วงผลกระทบโควิดก็ไม่เคยทอดทิ้ง ไม่มีการเลิกจ้างอย่างบริษัทห้างร้าน ที่ตัดเงินเดือน ปลดพนักงาน ซึ่งเราข้าราชการสาธารณสุขก็ต้องมีความรับผิดชอบเสียสละในอุดมการณ์ ในเจตนารมณ์ของพวกเรา สำหรับนโยบาย Health for Wealth ก็ขอให้สร้างสมดุลกันให้ดี เพราะหาก Healthy แต่ไม่ Wealthy ก็ทำงานหนักจนตาย แต่หาก Wealthy แต่ไม่ Healthy ก็ตายก่อนโดยไม่ได้ใช้เงิน

"ถ้ามีโอกาสก็จะกลับมาดูแล สธ.อีกไม่ว่าจะมาดูแลเองหรือคนอื่นเข้ามาดู จะขอแก้ตัวทุกครั้งที่มีโอกาส สิ่งใดที่ไม่พอใจโดยเฉพาะชมรมแพทย์ชนบทที่เขียนว่าผมมา ผมรับฟัง ไม่โกรธไม่แค้นไม่เกลียด ตัวผมเองรู้ตัวดี เพราะฉะนั้นถ้าติเพื่อก่อก็รับฟัง ใครตีอะไรมา ผมก็ทำเป็นงอนนิดหน่อย แต่พอคิดได้ 2-3 วันว่าเข้าท่า ก็เอามาทำงานหมด ผมไม่เคยมีความเกลียดแค้นใครแม้ผมจำยาวก็ไม่เอาคืน ขอให้ไม่ต้องกังวลทำงานกันไปแล้วงานเหล่านั้นคุณงามความดีเหล่านั้นจะมาลบเมมโมรีเองโดยที่ไม่มีการตอบโต้ใดๆ" นายอนุทินกล่าว


ทั้งนี้ นายอนุทินได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักการสาธารณสุขดีเด่น รางวัลชัยนาทนเรนทร ประจำปี 2564 จำนวน 5 คน ได้แก่ 1.ประเภทบริหาร คือ ดร.นพ.อุทัย สุดสุข 2.ประเภทบริการ คือ นพ.สมจิตต์ ชี้เจริญ นายแพทย์เชี่ยวชาญสาขาจักษุวิทยา รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ 3.ประเภทวิชาการ คือ พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมการแพทย์ 4.ประเภทผู้นำชุมชน คือ นายสมร สอนจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านเขาใหญ่ หมู่ 1 ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี และ 5.ประเภทประชาชน คือ นายนฤชิต แสงเทียนท์ อสม.เทศบาลนครแหลมฉบัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า การจัดงานอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโรคโควิด 19 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาอาชีพทั้งภายในและภายนอก สธ.มีโอกาสเผยแพร่ผลงานวิชาการสู่เวทีสาธารณะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมต่างๆ เพื่อใช้ปรับกระบวนการทำงานให้เกิดความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ ส่วนกิจกรรมประกอบด้วย การประกวดผลงานทางวิชาการ การบรรยาย การอภิปรายโดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและภายนอก สธ. การจัดมหกรรมความรู้โควิด 19 ผลวิจัยระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด มีส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมถึง 2,770 เรื่อง ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำเสนอ 816 เรื่อง ใน 10 สาขา คือ การแพทย์, การพยาบาล, วิทยาศาสตร์ LAB, ทันตสาธารณสุข, อาหาร ยา และการคุ้มครองผู้บริโภค, การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก,สมุนไพร กัญชา กัญชง, การส่งเสริมสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อม, โควิด 19, ระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ และบริหารสาธารณสุข นโยบายสาธารณสุขทั่วไป เศรษฐกิจสุขภาพ แบ่งเป็น ผลงานวิจัยนำเสนอด้วยวาจา 410 เรื่อง นำเสนอด้วยโปสเตอร์ 284 เรื่อง และนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ 112 เรื่อง จะคัดเลือกผู้มีผลงานวิจัยยอดเยี่ยมประจำปี 2565 ต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น