xs
xsm
sm
md
lg

เฮ! วัคซีนเอชพีวีจีนผ่าน อย.แล้ว ช่วยลดขาดแคลน แจงฉีดย้อนหลังกลุ่มไม่ครบโดส ยังป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ข่าวดี! วัคซีนเอชพีวี ป้องกันมะเร็งปากมดลูกจาก "จีน" ผ่าน อย.ไทยแล้ว ซัพพลายมากขึ้น ช่วยลดปัญหาขาดแคลน ลุยฉีดย้อนหลังเด็กหญิง ป.5 ย้ำแม้ฉีดไม่ครบโดส มาฉีดเพิ่มหลังผ่านไป 3 ปียังได้ผลดี ส่วนวัคซีนโควิดรุ่นสองยังต้องรอดูข้อมูล ห่วงไวรัสกลายพันธุ์อาจไม่ได้ผล คิกออฟจัดประชุมวัคซีนอาเซียน+1 สร้างความมั่นคง ใครผลิตได้ต้องช่วยกันซื้อถึงเดินหน้าได้ มุ่งขายตะวันตกไม่น่ารอด

เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่โรงแรมเรเนซองส์ ราชประสงค์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ แถลงข่าว ASEAN Vaccine Network Consultation Meeting on Regional Vaccine Manufacturing Development หัวข้อ: ภาพรวมของการจัดประชุม และโอกาสในการแสวงหาความร่วมมือด้านวัคซีนของอาเซียนในระยะต่อไป


นายสาธิต กล่าวว่า ประเทศไทย โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ผลักดันแนวคิดการยกระดับวัคซีนเข้าสู่เวทีสากล ก่อนจะมีการระบาดโควิด 19 ตั้งแต่ปี 2557 โดยรัฐบาลยกระดับให้สถาบันวัคซีนฯ เป็นความมั่นคงแห่งชาติเรื่องวัคซีน มีการทำภารกิจต่อเนื่องจนถึงปี 2562 นายกฯ ในฐานะผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ได้แถลงต่อทุกประเทศว่า ทุกประเทศต้องเห็นความสำคัญของวัคซีน จึงมีการประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีน เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2562 ก่อนจะเกิดสถานการณ์โควิด เป็นก้าวแรกของความสำเร็จที่ผลักดันเรื่องวัคซีนเข้าสู่เวทีอาเซียน และต้องขอแสดงความขอบคุณเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำอาเซียน และเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ที่สนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณ จนเกิดการผลักดันการจัดประชุมนี้ คือ อาเซียน+1

"การประชุมครั้งนี้คือการประชุมเครือข่ายความร่วมมือเพื่อความมั่นคงและพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนแห่งอาเซียน เป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันของผู้กำหนดนโยบายด้านวัคซีนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและวัคซีนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สถาบันวัคซีนนานาชาติ เครือข่ายผู้ผลิตวัคซีนในกลุ่มประเทศกำลังรัฐบาล เป็นต้น เพื่อให้อาเซียนแสดงออกความเป็นหนึ่งเดียวกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์เครือข่ายด้านวัคซีน จะเป็นเวทีสำคัญฐานะความมั่นคงของวัคซีนในไทยและอาเซียน" นายสาธิตกล่าว


นพ.นคร กล่าวว่า ความมั่นคงทางด้านวัคซีนคือมีวัคซีนใช้อย่างเพียงพอในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน เรามีการร่างแผนงานร่วมกับกับอาเซียน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2021-2025 งานหลักคือพัฒนาศักยภาพบุคลากรร่วมกัน แชร์ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ดึงความเชี่ยวชาญจากองค์กรระดับโลกเข้ามาอาเซียนเพื่อเพิ่มศักยภาพเพื่อพึ่งพาตนเองได้ในการดูแลตนเอง แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร อย่างช่วงโควิดถ้าไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและไวรัสจะรับมือไม่ทัน ผลิตวัคซีนช้าลง และหากลไกสร้างความร่วมมือวิจัยพัฒนาวัคซีนร่วมกัน ทั้งนี้ แม้โควิด 19 จะผ่านช่วงมาถึงการผ่อนคลาย อาจนึกว่าไม่ทันเวลา แต่ไม่ใช่ เราอาจเจอโรคอุบัติใหม่อื่นๆ เมื่อไรก็ได้ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในประเทศและร่วมมือกับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ จึงต้องมาแลกเปลี่ยนกันในการประชุมครั้งนี้ และวันนี้เป็นการคิกออฟที่ทุกคนเอาศักยภาพมาวาง และดูว่าจะร่วมมือกันอย่างไร ต่างประเทศ องค์การอนามัยโลก ยูนิเซฟ รวมทั้งจีนก็จะเอาเทคโนโลยีมาช่วยเสริมศักยภาพ

นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนการจัดหาวัคซีนโควิดรุ่นที่ 2 อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูล แต่วัคซีนที่มีอยู่ยังใช้ได้ และวัคซีนรุ่น 2 เพิ่งออกมาก็ต้องติดตามต่อไป เพราะเพิ่งเริ่มใช้ใน 1-2 ประเทศเท่านั้น ต้องดูว่าถ้าเราใช้วัคซีนที่จำเพาะต่อสายพันธุ์ ก็ยิ่งต้องพิจารณา และหากไวรัสกลายพันธุ์อีกข้างหน้า วัคซีนที่จำเพาะจะใช้ได้หรือไม่ จึงต้องรวบรวมข้อมูลและใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาประกอบการจัดหา อย่างจำนวนวัคซีนที่เราใช้ทุกวันนี้ยังมีพอใช้ถึงปี 2566 โดยวัคซีนกระตุ้นสำคัญมาก ไม่ต้องรอรุ่นใหม่ ยังป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและมีโรคร่วม ซึ่งเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคก็เน้นย้ำว่า กลุ่ม 608 ต้องเดินหน้าให้ได้รับ 4 เข็ม จะขับเคลื่อนในปีหน้า


เมื่อถามถึงวัคซีนเอชพีวีที่ขาดแคลน จนทำให้เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 เราไม่ได้ฉีด 2 ปี นพ.นครกล่าวว่า สถานการณ์ค่อนข้างคลี่คลาย และมีซัพพลายเข้ามามากขึ้น และข่าวดีคือ ประเทศจีนมีการผลิตวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนและได้มาตรฐานองค์การอนามัยโลกแล้ว 1 ตัว ก็ผ่านการขึ้นทะเบียนของ อย.ไทย ก็จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มถัดไปจากนี้ สภาวะขาดแคลนจะค่อยๆ คลี่คลาย เราจะทำความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเอชพีวีของจีน ระยะยาวจะลดความเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนลงได้มาก ส่วนกรณีที่ฉีดวัคซีนเอชพีวีไปแล้วแต่ยังไม่ครบโดสนั้น ไม่ต้องกังวล เพราะมีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์พบว่า แม้ผ่านไป 3 ปี การฉีดเข็มสองก็ยังได้ผลดี

นพ.มานิตกล่าวว่า ความมั่นคงต้องผลิตได้เองหรือมีสต๊อก ฉุกเฉินก็ต้องร่วมมือสต๊อกวัคซีนร่วมกัน ถ้าไม่ร่วมมือกัน เราผลิตขายตะวันตกไม่มีทางขายได้ คิดว่าถ้าร่วมมือในอาเซียนใครผลิตได้ช่วยกันซื้อ ทำให้การผลิตวัคซีนมีโอกาสเดินหน้าไปได้ จนถึงขณะนี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งมาจากการที่ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มในอาเซียน




กำลังโหลดความคิดเห็น