วันนี้ (12 ก.ย.) ห้องประชุม ชั้น 19 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง : นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงกรณีมีการตั้งข้อสังเกตถึงความผิดปกติในการแปรญัตติงบประมาณตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2565 ในส่วนของเขตจตุจักร ที่เป็นพื้นที่อ่อนไหวต่อการเกิดน้ำท่วม และมีจุดเสี่ยงต้องเฝ้าระวังน้ำท่วม แต่มีการตัดงบประมาณโครงการเกี่ยวกับระบายน้ำ เปลี่ยนเป็นงบประมาณโครงการด้านการสัมมนาและศึกษาดูงาน ว่า อยากให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับงบประมาณ ในการจัดสรรงบประมาณแต่ละปีนั้น หลังจากมีการร่างข้อบัญญัติงบประมาณแล้วจะมีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญขึ้นมาตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญมีทั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานครและข้าราชการกรุงเทพมหานคร ในครั้งนี้การพิจารณางบประมาณไม่ได้แตกต่างจากที่ผ่านมา หลังจากมีการพิจารณางบแล้วคณะกรรมการวิสามัญจะพิจารณาว่าโครงการไหนหรืองบประมาณไหนที่สามารถใช้ในปีต่อมาได้ ยืนยันว่าไม่ได้มีการตัดงบประมาณเกี่ยวกับเรื่องการระบายน้ำเลย
ขณะเดียวกัน กรณีโครงการหรือรายการไหนมีการเบิกจ่ายเงินล่าช้า หรือทำงานไม่เป็นไปตามสัญญา อาจมีการลดงบประมาณลงแต่ไม่มีการตัดงบประมาณ สำหรับงบประมาณปี 2566 เขตจตุจักร ได้รับจัดสรรงบประมาณ 536 ล้านบาท ในการขอจัดสรรงบประมาณครั้งแรกมีการตัดลดประมาณ 60,000 บาท ที่เกี่ยวกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียว หลังจากนั้นผู้อำนวยการเขตจตุจักรได้แปรญัตติกลับเข้ามาเกือบ 20 ล้านบาท
ในจำนวนงบดังกล่าวมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลอกท่อระบายน้ำเพิ่มเติม 3 ล้านบาท และการทำฝาท่อระบายน้ำเพิ่ม 2 ล้านบาท คณะกรรมการวิสามัญให้ผ่านหมด ซึ่งงบประมาณเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังของเขตจตุจักรรวมทั้งหมดเกือบ 20 ล้านบาท คณะกรรมการวิสามัญไม่ได้ตัดเลย
สำหรับงบประมาณเกี่ยวกับโครงการอบรมศึกษาดูงานนั้น สำนักงานเขตจตุจักรได้ขอจัดสรรงบประมาณในส่วนของงบแปรญัตติเข้ามา จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย โครงการแรกเป็นการอบรมสัมมนาของข้าราชการ โครงการที่สองเป็นการศึกษาดูงานของลูกจ้างสำนักงานเขตจตุจักร และอีก 3 โครงการ เป็นการพาชุมชนไปศึกษาดูงาน เป็นเรื่องที่สำนักงานเขตจตุจักรอยากให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการบริการจัดการและทำงานร่วมกับเขต ซึ่งเป็นการขอจัดสรรงบประมาณตามหลักเกณฑ์การแปรญัตติทุกอย่าง ทั้งนี้ที่ผ่านมาเคยมีโครงการแบบนี้อยู่แล้วแต่ในช่วงของสถานการณ์โควิด-19 จึงได้หายไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเด็นสำคัญเป็นความประสงค์ของชุมชนและสำนักงานเขตพื้นที่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาอาจส่งผลให้เกิดความห่างเหิน การมีโครงการดังกล่าวก็จะช่วยให้สำนักงานเขตและชุมชนมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการอยู่ที่สำนักงานเขต ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณแต่ละครั้งเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร ตามกฎหมายแล้วสมาชิกสภากรุงเทพมหานครไม่มีอำนาจใช้งบประมาณโดยที่ฝ่ายบริหารไม่ได้จัดสรรลงไป การที่สำนักงานเขตจะพาหัวคะแนนไปเที่ยวทำไม่ได้และไม่ได้เป็นโครงการที่พาคนไปเที่ยว แต่เป็นโครงการที่พาบุคลากรของหน่วยงานหรือชุมชนไปศึกษาดูงาน
ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปกติโครงการศึกษาดูงานของระบบราชการมักถูกมองว่าพาไปเที่ยว แต่จริงๆ แล้วบางครั้งสามารถไปเรียนรู้งานจากพื้นที่อื่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น หรือจังหวัดอื่นได้ การออกไปอยู่พื้นที่เดียวกันทำให้มีเวลาและสามารถมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่เราต้องการให้เกิดจากโครงการแต่ละครั้งได้ การกำกับรายละเอียดโครงการ ใครเป็นคนไป เป็นไปได้ที่เราจะเห็นภาคประชาชนที่ตื่นตัวไปร่วมโครงการ รายละเอียดโครงการต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เป็นการจัดสรรงบประมาณแบบมีส่วนร่วม การที่ประชาชนเข้าใจว่าโครงการแบบไหน ความต้องการของชุมชนจะสามารถทำโครงการได้ เช่น การพัฒนาสุขภาพระดับเขต โครงการแบบนี้จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจอกัน เขตจะทราบว่าทำไมประชาชนไม่สามารถเขียนโครงการขึ้นมาได้ ติดขัดตรงไหน ประชาชนจะได้รับความช่วยเหลือแนะนำจากเขตทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงเนื้อหาในการพัฒนาบุคลากรเขตด้วย ซึ่งในอนาคตจะมีการส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น จำเป็นจะต้องมีการทำเขตนำร่องให้มีความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยี
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า ในเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีการสร้างอาสาสมัครเทคโนโลยีเพื่อมาช่วยเหลือให้ประชาชน อาสาสมัครต่างๆ หรือบุคลากรเขต อาทิ อาสาสมัครสาธารณสุข พนักงานกวาด เข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น และใช้เทคโนโลยีเป็น บางครั้งโครงการแบบนี้ก็ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ รายละเอียดทุกโครงการที่ถูกอนุมัติจะมีการพิจารณาก่อน หากดูแล้วไม่เกิดประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพก็ไม่ไป หรือเนื้อหาไม่ตรงกับกลุ่มคนที่จะไปก็จะต้องมีการปรับเนื้อหา จะมีการกำกับอย่างเข้มงวด
นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า งบประมาณที่เข้าสภาฯ ครั้งนี้แก้ไม่ได้มากเพราะเป็นงบประมาณที่เสนอไว้แต่เดิม คณะกรรมการวิสามัญได้ตัดออกไปประมาณ 4,800 ล้านบาท จากนั้นฝ่ายบริหารก็ได้แปรญัตติกลับเข้ามาทั้งหมด ทั้งส่วนงานหลักและเส้นเลือดฝอย ซึ่งได้กระจายลงไปตามเขตเพิ่มประมาณ 40-50 ล้านบาทต่อเขต บางเขตได้มากถึง 70 ล้านบาท มีส่วนหนึ่งฟังเสียงประชาชน การกระจายงานต่างๆ ควรให้มีการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ ซึ่งงบประมาณที่ตัดไปได้นำกลับเข้ามาโดยกระจายไปที่เขตมากกว่า 2,000 ล้านบาท ที่เหลือก็ไปอยู่ที่สำนักตามความสำคัญ จะเห็นได้ว่าบางเขตจากเดิมที่ไม่มีเงินงบประมาณแต่ปัจจุบันมีงบประมาณ 50 ล้านบาท