"อนุทิน" แจงปมนักวิชาการวงนอกจี้ถอดใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" รักษาโควิด ย้ำแนวทางรักษามีคณะกรรมการและหลักวิชาการรองรับ ไม่ได้มาจาก รมต.สธ. ต้องเชื่อถือผู้ที่เกี่ยวข้อง หน้างานรักษาเป็นล้านก็หายทุกคน อธิบดีกรมการแพทย์ย้ำรับฟังทุกความเห็น แต่ข้อมูลจากต่างประเทศศึกษาต่างกัน ผลย่อมไม่เหมือนกัน พบไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาการน้อยช่วยหายเร็วขึ้น พบไกด์ไลน์ก็กำหนดให้ใช้ในกลุ่มไม่มีปัจจัยเสี่ยง
เมื่อวันที่ 12 ก.ย. ที่ รพ.ราชวิถี 2 (รังสิต) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนักวิชาการหลายคนแสดงความเห็นถึงงานวิจัยในต่างประเทศการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด 19 ไม่ช่วยลดความรุนแรงและไม่แนะนำให้ใช้ เสนอให้ถอดออกจากแนวทางการรักษาในไทย ว่า สธ. มีคณะกรรมการวิชาการด้านการใช้ยา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยออกมาเป็นแนวทางการใช้ยาตามหลักวิชาการด้านการแพทย์ เพื่อการนำมาปฏิบัติ ดังนั้น สธ.ยืนยันว่าการรักษาโดยยา เวชภัณฑ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่มีหลักวิชาการ มีการรับรองจากผู้ทรงคุณวุฒิทางการแพทย์ ไม่ใช่มาจาก รมว.สธ.อย่างแน่นอน
“ไม่ทราบว่าจะไปต่อล้อต่อเถียงกับคนไม่เกี่ยวข้องอย่างไร เราต้องเชื่อถือคนที่เกี่ยวข้อง รักษาจริงที่หน้างาน ช่วงก่อนที่ไม่มียาโมลนูพิราเวียร์ ยาแพกซ์โลวิด ยาเรมเดซิเวียร์ ทุกคนก็ร้องหาแต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจะได้ผลหรือไม่ได้ผลก็แล้วแต่ แต่หน้างานก็ยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นล้านๆ คน เมื่อได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่เริ่มมีอาการก็หายทุกคน แม้กระทั่งยาปัจจุบันที่รักษาโควิด 19 แต่หากอาการบานปลายไปแล้ว ก็ไม่ใช่รักษาได้ทุกคน” นายอนุทินกล่าว
ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ยินดีรับทุกความเห็น โดยเฉพาะที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ แนวทางรักษาผู้ป่วยโควิดของไทยมีผู้เชี่ยวชาญที่กรมฯ ได้เชิญมา เช่น คณะแพทย์ที่เกี่ยวข้อง สมาคมโรคติดเชื้อ สมาคมอุรเวชช์ฯ ซึ่งเรามีข้อมูลวิชาการที่ รพ.ศิริราช ทำไว้แล้ว ทั้งนี้ ข้อมูลจากต่างประเทศที่สรุปมานั้นมีวิธีศึกษาต่างกัน โดยต่างประเทศเป็นการให้ผู้ป่วยประเมินเอง มีความหลากหลายของผู้ป่วย และให้ยาช้า แต่ประเทศไทยใช้บุคลากรแพทย์ประเมิน ทำการศึกษาในกลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ใน 24 ชั่วโมงแรกกับกลุ่มไม่ได้รับ ดังนั้น วิธีการวัดผลจึงต่างกัน อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ของไทย พบว่า แม้ไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงของโรคหรือลดจำนวนไวรัส แต่การใช้ในกลุ่มผู้ไม่มีปัจจัยเสี่ยงและมีอาการน้อยๆ อาการหายเร็วขึ้น เปรียบเทียบกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดที่สามารถใช้ยาแก้ไข้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัส
“พบว่าคนไม่มีปัจจัยเสี่ยง อาการน้อยๆ อาการหายเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้รับยา กรมฯ ไม่ได้จะแย้งใคร แต่จะให้ข้อมูลว่า ทุกครั้งที่มีการคุยในกลุ่มผุ้เชี่ยวชาญ นำข้อมูลทุกอย่างมาคุยกัน ซึ่งตอนนี้กำลังปรับแนวทางต่อไป ซึ่งผมก็พูดไม่ได้ว่ายาฟาวิพิราเวียร์จะอยู่หรือไม่ เพราะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญระดมความคิดกัน” นพ.สมศักดิ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามแนวทางเวชปฏิบัติการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 24 วันที่ 11 ก.ค. 2565 แนะนำให้กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญและภาพถ่ายรังสีปอดปกติ อาจพิจารณาให้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยเร็วที่สุด ตามดุลยพินิจแพทย์ หากตรวจพบเชื้อเมื่อผู้ป่วยมีอาการมา 5 วันแล้วและผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยอาจไม่จำเป็นต้องให้ยาต้านไวรัส เพราะผู้ป่วยจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีปอดอักเสบเล็กน้อย ยังแนะนำยาฟาวิพิราเวียร์ แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหือมีโรคร่วม 1 ข้อ แนะนำยาโมลนูพิราเวียร์เป็นตัวแรก หากมีปัจจัยเสี่ยง 2 ข้อจะแนะนำยาเรมเดซิเวียร์เป็นตัวแรก จะเห็นว่ายาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มที่มีอาการหรือมีปัจจัยเสี่ยงจะไม่ใช่ตัวเลือกแรกในการให้การรักษาแล้ว แต่ลดมาให้ในกลุ่มที่ไม่มีอาการ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง หรือหากเริ่มให้ยาช้าก็ไม่จำเป็นต้องรับยาเพราะสามารถหายเองได้