กรมการแพทย์แจงข้อมูลวิจัยใช้ "ยาฟาวิพิราเวียร์" รักษาโควิด 19 ไม่ได้ผล ศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยมีความเสี่ยง อาการรุนแรง น้ำหนักมากไม่ปรับขนาดยา ให้ยาช้า แถมให้ผู้ป่วยประเมินอาการตนเอง ส่วนงานวิจัยในไทย ใช้ได้ผลในกลุ่มเสี่ยงต่ำ อาการน้อย ช่วยดีขึ้นเร็วกว่า แต่ไม่มีข้อมูลในกลุ่มปอดบงมหรือลดเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 11 ก.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีข้อมูลงานวิจัยยาฟาวิพิราเวียร์ไม่ใช่รักษาโควิด 19 ไม่แตกต่างจากยาหลอก และเสนอให้หยุดใช้ ว่า ข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจากการศึกษาวิจัยแบบหลายสถาบัน (https://academic.oup.com/cid/advance-article/doi/10.1093/cid/ciac712/6692456?login=false) จำนวน 40 แห่ง ใน 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และบราซิล มีอาสาสมัครในโครงการวิจัยจำนวน 1,187 คน เป็นผู้ป่วยอ้วนร้อยละ 70 ผู้ป่วยสูงอายุร้อยละ 15 ซึ่งเป็นการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตาม การศึกษานี้ได้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์โดยมิได้มีการปรับขนาดยาตามน้ำหนักตัวผู้ป่วย
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยเกือบทุกรายได้รับยาประมาณวันที่ 3 ภายหลังเริ่มมีอาการ ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนหรือเคยป่วยเป็นโควิด 19 มาก่อน รวมถึงการประเมินความรุนแรงของผู้ป่วยด้วยเกณฑ์ที่แตกต่างกับที่ใช้ในประเทศไทย นอกจากนี้ การรายงานผลลัพธ์การรักษาทำโดยผู้ป่วยเป็นผู้รายงานเองผ่านระบบโทรศัพท์ ซึ่งมิได้เป็นการวัดด้วยเครื่องมือเฉพาะโดยบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการวัดประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ได้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยมีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/22221751.2022.2117092 โดยมีผู้ป่วยโควิด 19 ทั้งหมดจำนวน 93 คนใน รพ. 3 แห่ง ทุกคนอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว เป็นผู้ป่วยที่อ้วนร้อยละ 25 ผู้ป่วยครึ่งหนึ่งได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มมีอาการโดยไม่มีผู้ที่เคยเป็นโควิด 19 และ/หรือได้รับวัคซีนมาก่อน ทุกคนมีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง ไม่มีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงในโครงการวิจัย ผู้ป่วยได้รับการรักษาและติดตามอาการใน รพ. รวมถึงการวัดประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์โดยด้วยระบบ NEWS ประกอบด้วยอัตราการหายใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด การให้ออกซิเจน อุณหภูมิ ความดันซิสโตลิก อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับความรู้สึกตัว ซึ่งประเมินโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ไม่ใช้การประเมินตามความรู้สึกของผู้ป่วยเป็นเกณฑ์วัด
จากการศึกษาพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ทำให้อาการรุนแรงของการประเมินด้วย NEWS ของผู้ป่วยโควิด 19 ดีขึ้นได้เร็วกว่ากลุ่มควบคุมอย่างชัดเจน โดยครึ่งหนึ่งดีขึ้นใน 2 วันเมื่อได้รับยาเปรียบเทียบกับ 14 วันในกลุ่มควบคุม ผลการศึกษาทั้งสองยังพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มิได้ช่วยลดปริมาณไวรัสลงหรือทำให้ไวรัสหายไปได้เร็วขึ้นแต่อย่างใด และไม่สามารถเห็นประสิทธิผลเมื่อประเมินอาการจากความรู้สึกผู้ป่วย เช่น อาการอ่อนเพลีย ไอ รวมถึงพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีความปลอดภัย แม้จะพบระดับกรดยูริคในเลือดสูงขึ้นแบบไม่มีอาการก็ตาม
"เราไม่สามารถเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์จากสองการศึกษานี้ได้ เนื่องจากรายละเอียดและวิธีการศึกษาแตกต่างกัน การศึกษาในทวีปอเมริกาแสดงให้เห็นว่า การเริ่มให้ยาช้าในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง และมีน้ำหนักมากโดยไม่มีการปรับขนาดยา อาจมีผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเป็นเพราะการประเมินผล ซึ่งส่วนหนึ่งได้จากความรู้สึกอาการของผู้ป่วย อาจทำให้ผลการศึกษาไม่ตรงกัน" นพ.สมศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาในประเทศไทยพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ทำให้ผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีความเสี่ยงต่ำที่ไม่รุนแรงมีอาการดีขึ้นได้เร็วขึ้น แต่การศึกษาในประเทศไทยไม่มีข้อมูลประสิทธิผลของยาฟาวิพิราเวียร์ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปอดบวมหรือลดการเสียชีวิต กรมการแพทย์ยินดีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ความรู้เชิงประจักษ์ที่มีมากขึ้นจากการศึกษาจะช่วยในการปรับแนวทางการรักษาให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้ป่วยโควิด 19 มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป