สปสช.แจงไม่ได้เยียวยาแพ้วัคซีนโควิดให้สิทธิรักษาอื่นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. หลังออกประกาศปรับหลักเกณฑ์ จากใช้งบเงินกู้เป็นงบบัตรทอง ดูแลเฉพาะสิทธิบัตรทองเท่านั้น ส่วนสิทธิอื่นให้ยื่นเรื่องตามสิทธิการรักษา ส่วนที่ยื่นมาแล้งจะรวบรวมส่งหน่วยงานต้นสังกัดให้ เผย 17 เดือนฉีดวัคซีน เยียวยาแพ้วัคซีนแล้ว 17,559 ราย รวม 2,083 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดลดความรุนแรงลง และเตรียมเข้าสู่โรคประจำถิ่น ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 จึงปรับหลักเกณฑ์ แนวทางการจ่ายชดเชยบริการโควิด 19 ตามแผนปรับโรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งรวมถึงกรณีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ด้วย ให้เบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในหมวดรายการที่เกี่ยวข้อง จากเดิมเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณ พ.ร.ก.กู้เงินฯ และจำกัดการดูแลเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง จากเดิมดูแลครอบคลุมทุกสิทธิการรักษา
“ผู้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2565 กรณีที่แพ้วัคซีน สปสช.จะดูแลเฉพาะผู้ใช้สิทธิบัตรทองเท่านั้น ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลอื่นให้ยื่นเรื่องกับหน่วยงานตามสิทธิรักษาของตนเอง เช่น สำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะได้รับการดูแลช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์สิทธินั้นๆ ดังนั้น สิทธิอื่นที่มีการยื่นเรื่องคำร้องมายัง สปสช.ตั้งแต่ 4 ก.ค. ก็จะรวบรวมคำร้องทั้งหมดส่งต่อให้กับหน่วยงานที่ดูแลตามสิทธิ ย้ำว่า การดำเนินการนี้ สปสช. ได้เปลี่ยนแปลงการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการปรับเป็นโรคประจำถิ่น" ทพ.อรรถพรกล่าว
ทพ.อรรถพรกล่าวว่า จากข้อมูลถึงวันที่ 9 ก.ย. 2565 มีประชาชนยื่นคำร้องขอรับการช่วยเหลือฯ ทั่วประเทศจำนวน 21,139 ราย เป็นสิทธิบัตรทองมากที่สุด 12,065 ราย สิทธิประกันสังคม 4,691 ราย ข้าราชการ 3,910 ราย ข้าราชการท้องถิ่น 330 ราย และยังมีคำร้องที่เป็นสิทธิรักษาพยาบาลอื่น มีจำนวนผู้ที่เข้าหลักเกณฑ์รับการช่วยเหลือฯ 17,559 ราย อยู่ระหว่างรอการพิจารณา 406 ราย จำนวนผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือฯ แยกเป็นกรณีเสียชีวิตทุพพลภาพ 4,441 ราย พิการหรือสูญเสียอวัยวะ 505 ราย บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่อง 11,331 ราย รวมเป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 2,083,680,900 บาท หากพิจารณาจากคนไทยฉีดวัคซีน 142.93 ล้านโดส รวม 31.9 ล้านคน ตลอดช่วง 17 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 0.05 ของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน