กทม.จัดแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” เน้นความร่วมมือทุกมิติ สู่กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนพัฒนาฐานข้อมูลจุดเสี่ยงและแหล่งทรัพยากรฉุกเฉิน เปิดบริการรูปแบบใหม่เพื่อคนกรุงสุขภาพดีพัฒนาระบบบริหารจัดการและดูแล “คน” ดันนโยบาย 3ดี ชนเป้าหมายอีก 99 วันข้างหน้า ป้องกันแก้ไขน้ำท่วมแบบบูรณาการ
หาก “กรุงเทพมหานคร” เปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ “ประชาชน” ก็คงเปรียบได้กับคุณครูที่รอตรวจการบ้านจากผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุกๆ ท่าน
วันนี้ (9 ก.ย.) จึงเป็นโอกาสที่กรุงเทพมหานครจะมาส่งการบ้านให้กับประชาชนในงานแถลงข่าว “99 วัน ส่งการบ้านให้คนกรุง” ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร โดยมี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล นายจักกพันธุ์ ผิวงาม และ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ พร้อมด้วย นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้เล่าถึงภาพรวมการทำงาน 99 วัน ในรูปแบบ TED Talk เพื่อให้ประชาชนได้ทราบว่า กรุงเทพมหานครทำอะไรไปบ้างแล้ว และจะทำอะไรต่อไปเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
เริ่มแล้วพัฒนาฐานข้อมูลจุดเสี่ยงและแหล่งทรัพยากรฉุกเฉิน
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวถึงการทำงาน 99 วันที่ผ่านมา ภายใต้นโยบาย 3ดี คือ ปลอดภัยดี สุขภาพดี และบริหารจัดการดี ที่ได้เริ่มเดินหน้าแล้ว ในด้าน “ปลอดภัยดี” ได้แก่ การพัฒนาข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย โดยมีการจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงกรุงเทพมหานคร (BKK risk map) นำเข้าข้อมูลตำแหน่งหัวจ่ายดับเพลิง (ประปาหัวแดง) ลงฐานข้อมูล GIS และ MIS รวมทั้งบัญชีวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการเผชิญเหตุ ในด้านทรัพยากรได้พัฒนาระบบป้องกันสาธารณภัย โดยเพิ่มประปาหัวแดงโดยเฉพาะเขตที่อยู่หนาแน่น พร้อมพัฒนาบัญชีอุปกรณ์ในการเผชิญเหตุสาธารณภัยฉุกเฉินระดับย่าน และปรับปรุงและบำรุงอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย
เปิดบริการรูปแบบใหม่เพื่อคนกรุงสุขภาพดี
“สุขภาพดี” ได้ดำเนินการ 4 เรื่องหลัก คือ
1) พัฒนาระบบการจัดการโรคติดต่อ (โควิด-19) ได้เปิดบริการคลินิกวันเสาร์ ช่วง ก.ค.- ส.ค. 65 ให้บริการไปแล้ว 4,946 ราย ให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุก ให้แก่กลุ่ม 608 จำนวน 16,961 ราย พร้อมทั้งเปิดคลินิกลองโควิด (Long COVID) ในโรงพยาบาลสังกัด กทม. 9 แห่ง
2) เปิดบริการคลินิกหลากหลายทางเพศ (Bangkok Pride Clinic) ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง ใน 6 กลุ่มเขต และที่โรงพยาบาลสังกัด กทม. อีก 5 แห่ง
3) เปิดให้บริการศูนย์บริการบัตรคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ 9 แห่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิของคนพิการได้สะดวกรวดเร็วขึ้น และลดขั้นตอนกระบวนการในการขึ้นทะเบียนคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4) การทำ sandbox เชื่อมรอยต่อระหว่างระบบสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และ ตติยภูมิ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ตั้งแต่ที่บ้าน นำร่องศูนย์สุขภาพปฐมภูมิ “ดุสิตโมเดล” ซึ่งเป็นนโยบายต่อเนื่องจากผู้บริหารชุดที่แล้ว สำหรับดูแลพื้นที่เขตดุสิต พระนคร บางพลัด และบางซื่อ ในส่วนของ “ราชพิพัฒน์ sandbox” จะมีพื้นที่ดูแลครอบคลุมเขตตลิ่งชัน บางแค หนองแขม ภาษีเจริญ และทวีวัฒนา
พัฒนาระบบบริหารจัดการและดูแล “คน”
ด้าน “บริหารจัดการดี” ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริการ Smart service และคำขอแบบออนไลน์ (Bangkok One Stop Service: BKK OSS) ซึ่งเป็นบริการที่มีอยู่แล้ว แต่ได้เพิ่มงานบริการด้านทะเบียน 4 งานและแบบฟอร์มออนไลน์ 4 แบบ เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการ ในส่วนของกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกคนพิการเข้ารับราชการซึ่งจะเข้ากระบวนการสรรหาและบรรจุ จะดำเนินการได้ในช่วง ต.ค.- พ.ย. 65 นี้
สำหรับการเพิ่มสวัสดิการครูและพนักงานเก็บและขนขยะ ได้มีการทบทวนสวัสดิการและรูปแบบการจ้างพร้อมทั้งจัดทำร่างข้อบัญญัติเงินรางวัลประจำปีให้แก่ลูกจ้างกทม. รวมถึงผู้บริหารกรุงเทพมหานครได้ประกาศนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมยอมรับความหลากหลายทางเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติทางเพศและการป้องกันการล่วงละเมิดหรือการคุกคามทางเพศในการทำงาน
รองฯ ทวิดา ดันนโยบาย 3ดี ชนเป้าหมายอีก 99 วันข้างหน้า
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวด้วยว่า อีก 99 วันจากนี้ นโยบายด้านปลอดภัยดี จะเน้นการบริหารจัดการความปลอดภัยด้วยระบบข้อมูลชุมชน (ทรัพยากรและอาสาสมัคร) รวมทั้งบูรณาการ BKK RISK MAP เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงพื้นที่ที่เป็นวิกฤตน้ำท่วม จุดวิกฤตอาชญากรรม จุดวิกฤตอัคคีภัย มากขึ้น
ส่วนนโยบายด้านสุขภาพดี จะเพิ่มคลินิกหลากหลายทางเพศ Pride Clinic ในศูนย์บริการสาธารณสุข 16 แห่ง รวมถึงเพิ่มเตียงพักรอสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินในศูนย์บริการสาธารณสุข กลุ่มเขตละ 1 แห่ง พร้อมทั้งเชื่อมต่อและขยายบริการศูนย์บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จโดยหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้พิการ และขยายระบบปฐมภูมิ sandbox ในโซนกรุงเทพเหนือโดยทำความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
และนโยบายด้านบริหารจัดการดี ประชาชนจะสามารถติดตามความก้าวหน้าตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ทั้งหมด BKK digital plan การปรับโครงสร้างสำนักงานเขตในภาพรวมทั้งมิติโครงสร้างงานและอัตรากำลัง มิติด้านคุณภาพชีวิต เนื่องจากเส้นเลือดฝอยเป็นสิ่งที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญมากที่สุด โดยจะเริ่มปรับในลักษณะของ Sandbox และจัดทำระบบประเมินผลงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ สร้างความโปร่งใสในการสู่ตำแหน่งเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะแล้วเสร็จ
99 วันงานราบรื่น ด้วยความร่วมมือทุกมิติ
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า สำหรับ 99 วัน ตามนโยบายที่เราเคยให้ไว้ เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาและข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณ เราจึงมียุทธศาสตร์ (Strategy) อย่างหนึ่งเพื่อทำให้งานเดินหน้าได้ นั่นคือ “ความร่วมมือ” ซึ่งจะเห็นว่าในช่วง 1-2 เดือนแรก ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เข้าพบขอความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำให้งานของกรุงเทพมหานครราบรื่น และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ได้
ป้องกันแก้ไขน้ำท่วมแบบบูรณาการ
เริ่มต้นด้วยเรื่อง “การป้องกันน้ำท่วม” สิ่งที่เราได้ดำเนินการมา คือ ทำอย่างไรให้เรามีข้อมูลในการจัดการ ซึ่งเราได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหลายส่วนเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำ โดยได้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้แทน อธิบดีกรมชลประทานหรือผู้แทน ผู้บริหารหรือผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการการวางแผนและการบริหารจัดการ ทั้งน้ำเหนือ น้ำในเขื่อน ให้สอดคล้องกับสภาพฝน ปริมาณน้ำหลังเขื่อนด้วย และหลังจากน้ำลงมาในคลองแล้ว เราได้มีการปรับปรุงสถานีสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ ปั๊มน้ำ และเขื่อนกั้นน้ำ
เราได้มีการล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย เพื่อทำให้น้ำไหลจากหน้าบ้านลงสู่คูคลองได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในวันนี้เราดำเนินการไปแล้ว 3,358 กิโลเมตร ในส่วนของการขุดลอกคลองนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเนื่องด้วยเรื่องงบประมาณตามที่แจ้งไว้ข้างต้น แต่สิ่งที่เราทำได้เยอะคือการเปิดทางน้ำไหล 1,665 กิโลเมตร เพื่อระบายให้น้ำไหลได้เร็วขึ้น คนอาจจะสังเกตเห็นว่าเราขุดคลองให้ลึกและนำที่ขุดมาแปะไว้ข้างๆ นั่นคือ Quick Win หมายถึงเป็นการทำให้ร่องกลางน้ำลึกมากขึ้นและทำอย่างรวดเร็ว เพื่อรับน้ำในฤดูฝนนี้ก่อน ซึ่งได้ขุดลอกแล้ว 32 คลอง ส่วนในปีหน้าได้มีการจัดสรรงบประมาณเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ขุดลอกได้อย่างจริงจัง
สำหรับแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพมหานครได้จัดเรียงกระสอบทรายแนวฟันหลอ 3.12 กิโลเมตร โดยได้ขอความร่วมมือกับเจ้าของที่ เพื่อรับน้ำเหนือและน้ำหนุนที่จะมา เราได้มีการก่อสร้างเขื่อนถาวรในปีงบประมาณนี้ 1.5 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และในปีหน้าจะต้องทำให้ครบ 3.1 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กรุงเทพมหานครต้องขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของที่เพื่อทำเขื่อนถาวรด้วย
ในเรื่องของการลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบริเวณถนนสายหลัก ได้มีการรวบรวมข้อมูลจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักมาวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ตรงจุด โดยในปี 2565 ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมบนถนนสายหลักจาก 9 จุด เหลือ 2 จุด นอกจากนี้ยังได้มีการรวบรวมจุดเสี่ยงน้ำท่วมถนนสายย่อย จุดที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่เส้นเลือดฝอย เพื่ออัปเดตในระบบให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น
“เราทำอย่างเต็มที่ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ เรื่องของการพร่องน้ำในคลอง และเรื่องของการเร่งระบายน้ำจากบ้านลงคลอง แต่หากมีการท่วมเพราะปริมาณฝนช่วงนี้ ซึ่งตกหนักในแต่ละวัน หรือเกินเกณฑ์ค่าเฉลี่ย กรุงเทพมหานครก็ได้ระดมพลกัน ในกรณีที่เกิดความเสี่ยงท่วมขัง โดยหลายเขตได้มีการจัดรถรับ-ส่งประชาชนในจุดเปราะบางน้ำท่วม รวมถึงขอความร่วมมือจากทหารมาช่วย และระดมกำลังหน่วยงานของกทม. สำนักเทศกิจ สำนักงานเขต สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการโยธา กองโรงงานช่างกล สำนักการคลัง ทุกคนช่วยกันหมด นอกจากรับ-ส่งประชาชนแล้ว ก็มีการส่งทีมไปซ่อมรถให้ จะเห็นได้ว่าเราก็ทำทุกวิถีทางที่จะอำนวยความสะดวกเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าว
ทำถนน-ทางข้ามให้ปลอดภัย ขอภาพกล้อง CCTV ฉับไวผ่านออนไลน์
นอกจากเรื่องน้ำยังมีนโยบายอีกหลายเรื่องที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น เรื่อง “การปรับปรุงทางม้าลาย” ซึ่งการปรับปรุงทำได้ 2 วิธี คือ การทาสีใหม่ ในกรณีที่เส้นสีจืดจาง และการล้าง ในกรณีที่การปนเปื้อนคราบล้อยาง ซึ่งเราได้ปรับปรุงแล้ว 1,286 จุด จากทั้งหมด 2,788 จุด คิดเป็นร้อยละ 45.48
เรื่อง “การขอภาพ CCTV Online ภายใน 24 ชั่วโมง” จากเดิมที่มีจุดอ่อน (Pain Point) ว่าขอภาพยากมาก ช้ามาก ตอนนี้ได้เปิดให้มีการขอภาพจากกล้องวงจรปิด (CCTV) ของกรุงเทพมหานครทางออนไลน์ได้ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางมาขอภาพด้วยตนเอง ซึ่งเริ่มทำสำเร็จช่วง 1 ส.ค. 65 หรือก่อนนั้นเล็กน้อย มีผู้ขอภาพ CCTV Online ที่ได้รับภาพแล้ว 1,168 ราย
ขั้นตอนมีดังนี้ ประชาชนที่จะขอไฟล์ภาพต้องแจ้งความ ณ สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุก่อน จากนั้นสามารถแจ้งความประสงค์ขอไฟล์ภาพจากกล้อง CCTV ได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK โดยใช้เอกสารและข้อมูลประกอบการขอรับไฟล์ภาพ ได้แก่ 1. บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2. สำเนาบัตรประชาชน 3. หมายเลขกล้องวงจรปิด 4. วันและเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการขอ ซึ่งเมื่อศูนย์ CCTV ได้รับเรื่องแล้ว เจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านไลน์ @CCTVBANGKOK และทางอีเมลที่แจ้งไว้ หรือติดตามสถานะการขอไฟล์ภาพผ่านทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th โดยสามารถดาวน์โหลดไฟล์ภาพผ่านทางเว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th ในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน หากเกิน 7 วัน จะต้องทำเรื่องขอภาพใหม่
เรื่อง “การคืนพื้นผิวจราจร” เราจะเร่งรัดโครงการที่มีผลกระทบการจราจรสูง โดยได้คืนผิวจราจรแล้ว 2โครงการ คือ โครงการก่อสร้างทางลอดถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพรานนก และโครงการก่อสร้างทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ และในเดือน ต.ค. 65 จะคืนอีก 5 โครงการ ส่วนปีหน้า (2566) จะคืนอีก 7 โครงการ
เรื่อง “ความปลอดภัยบนท้องถนน” เราได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งมีจุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุบ่อย 100 จุด โดยเราได้ลงไปสำรวจและดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงแล้ว 2 จุดรวมถึงได้วิเคราะห์และตั้งงบประมาณปี 2566 เพื่อเตรียมการปรับปรุง 54 จุด (เริ่มดำเนินการ 1 ต.ค. 65) และอยู่ระหว่างการวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติมอีก 44 จุด ซึ่งคาดว่าทั้งหมดนี้เริ่มทำได้ภายในปี 2565
ประสานสิบทิศจัดระเบียบสายสื่อสาร และผลักดันการนำสายลงดิน
เรื่อง “การนำสายสื่อสารลงดิน” เป็นความดูแลของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในการนำสายไฟฟ้าลงดินก่อน โดยมีแผน 174 กิโลเมตร ตั้งเป้าปีนี้ 74 กิโลเมตร ปัจจุบันแล้วเสร็จ 62 กิโลเมตร จากนั้นจะประสานงานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะประสานงานต่อไปยังผู้ประกอบการด้านสื่อสารและโทรคมนาคมรายต่างๆ เพื่อให้นำสายสื่อสารลงดิน
ในส่วนของ กทม. จะดูแลเรื่อง “การจัดระเบียบสายสื่อสาร” คือ ตัดสายตายและจัดระเบียบใหม่ โดยกรุงเทพมหานครเป็นผู้ประสานงานกับ กสทช. และผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งตามแผนของ กสทช. คือจัดระเบียบสายสื่อสารให้ได้ 800 กิโลเมตร ใน 2 ปี โดยปีนี้ กสทช. มีแผน 390 กิโลเมตร ทำไปแล้วกว่า 60 กิโลเมตร และ กทม. ได้เข้าไปช่วยในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางเร่งรัดกระบวนการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เร็วขึ้นและมากขึ้น โดยเพิ่มเป้าหมายปีนี้ที่ 500 กิโลเมตร เป้าหมายใน 2 ปี เพิ่มเป็น1,000 กิโลเมตร ปัจจุบันแล้วเสร็จ 18 เส้นทาง ระยะทาง 79.62 กิโลเมตร
“สิ่งที่กล่าวมานี้ คือ Quick Win ที่ทำได้ แต่หลายๆ อย่าง เราต้องแก้ในเชิงโครงสร้าง ซึ่งการแก้ในเชิงโครงสร้างต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจรที่เป็น Pain Point สำคัญ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ เราได้มีการรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ จุดรถติดช่วงเวลาไหน เพื่อดูสาเหตุที่แท้จริงที่รถติด จะได้แก้ต้นตอได้ถูกต้อง นี่เป็นสิ่งที่จะเดินหน้าต่อไปในการใช้ข้อมูลมาบริหารจัดการ อีกสิ่งที่จะต้องเดินหน้าต่อไป คือ การบูรณาการ เพราะหลายๆ เรื่องใน กทม. เกี่ยวกับอีกหลายส่วน หลายหน่วยงาน ฉะนั้น สิ่งที่เราจะเดินหน้าต่อไปคือการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ และการร่วมมือการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวทิ้งท้าย
พัฒนาจุดทำการค้า พร้อมหาจุดร่วมระหว่างคนเดินกับผู้ค้า
รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ กล่าวถึงเรื่อง “จุดทำการค้า (หาบเร่-แผงลอย)” โดยมีการหาพื้นที่ให้แก่ผู้ค้าหาบเร่-แผงลอย Hawker Center มีสถานที่ราชการ 125 แห่ง สามารถรองรับผู้ค้าได้ประมาณ 8,300 ราย นอกจากนี้ สำนักงานเขต 50 เขต ได้สำรวจทางเท้า สามารถหาที่รองรับได้แล้ว 198 แห่ง รองรับผู้ค้าได้ 27,627 ราย
ในขณะนี้ กทม. ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การค้าขาย ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม โดยอาจต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ค้าได้มีโอกาสใช้ทางเท้าให้เกิดประโยชน์มากที่สุด และสามารถใช้ทางเท้าร่วมกันได้โดยไม่มีปัญหาในอนาคต การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว Street Food จะทำให้เกิดรายได้ของ กทม. ที่จะได้รับในอนาคต
ด้านการจัดระเบียบการค้า ขณะนี้ กทม. มีพื้นที่ทำการค้า 95 จุด ผู้ค้า 6,048 ราย โดยการจัดระเบียบทางเท้า กทม. ได้พยายามให้เกิดความความเรียบร้อย โดยร่วมมือกันกับภาคเอกชนให้การสนับสนุนร่ม แผงค้าแบบน็อกดาวน์ ฯลฯ และได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนและผู้ค้าเป็นอย่างดี โดยมีแผนการจัดระเบียบผู้ค้าและปรับปรุงแผงค้าในพื้นที่ทำการค้าของ กทม. ระยะที่ 2 จำนวน 29 จุด แบ่งเป็นระยะที่ 1 ก.ย. - พ.ย. 65 จำนวน 17 จุด ระยะที่ 2 ธ.ค. 65 - ก.พ. 66 จำนวน 29 จุด และระยะที่ 3 มี.ค. - พ.ค. 66 จำนวน 26 จุด
ในส่วนของส่วยเทศกิจ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ กทม.จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายเจ้าหน้าที่เทศกิจสำนักงานเขตที่ปฏิบัติงานเป็นระยะเวลานาน เพื่อให้การทำงานไม่ยึดติดอยู่กับสถานที่มากเกินไป ในขณะเดียวกัน หากมีเจ้าหน้าที่คนใดปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็จะต้องมีการดำเนินการลงโทษโดยเด็ดขาด
เสาะหาพื้นที่ Pocket Park สวน 15 นาที ทั่วกรุง
เรื่อง “สวน 15 นาที ทั่วกรุง” จากข้อมูลสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. จะมีพื้นที่สวน 15 นาที หรือสวนขนาดเล็ก (pocket park) ขนาดประมาณ 200 ตารางวา ประมาณ 104 แห่ง ระยะทางประมาณ 400 - 800 เมตร ปรากฏว่าประชาชนที่สามารถเข้าใช้บริการได้มีเพียงประมาณร้อยละ 20 ของประชาชนทั้งหมด ดังนั้น สำนักสิ่งแวดล้อมและสำนักงานเขตจึงได้ร่วมกันหาพื้นที่จัดทำสวน 15 นาที โดยจัดหาได้แล้วจำนวน 30 แห่ง อยู่ในพื้นที่ 21 สำนักงานเขต โดยมีการใช้งบประมาณในการปรับปรุง 2 ส่วน คือ งบประมาณ กทม. และภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุงเอง และมอบให้กับกทม.ดูแล ปัจจุบันได้ดำเนินการพื้นที่นำร่องสวน 15 นาที ประเภทที่ดินเอกชน ได้แก่ 1. Klong-san pocket park ที่ดินว่างริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซ.สมเด็จเจ้าพระยา 3 เขตคลองสาน เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา และ 2. สุขเวชชวนารมย์ pocket park แขวงบางปะกอก ฝั่งเหนือ เขตราษฎร์บูรณะ เนื้อที่ 2 ไร่ 3 งาน 23 ตารางวา // ประเภทที่ว่างริมคลอง ได้แก่ คลองเป้ง pocket park เขตวัฒนา // ประเภทที่ดินราชพัสดุ ได้แก่ สวนป่าสัก ซอยวิภาวดี 5 เขตจตุจักร เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ
นำร่องแล้ว 925 ชุมชน/องค์กร ร่วมแยกขยะจากต้นทาง
“นโยบายด้านการจัดการขยะ” ในปัจจุบัน กทม. มีปริมาณขยะที่ต้องกำจัดในแต่ละวันถึง 9,000 ตันต่อวัน ใช้เงินในการจัดการ 1 ตัน ประมาณ 1,900 กว่าบาท ดังนั้นในวันหนึ่งๆ ต้องใช้เงินประมาณ 17 ล้านบาท ซึ่งการลดปริมาณขยะจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะของ กทม. การลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทางจึงเป็นเรื่องสำคัญ การที่เราสามารถลดปริมาณขยะได้ จะเป็นการลดค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบให้สำนักงานเขต และสำนักสิ่งแวดล้อม ดำเนินการนโยบายมุ่งเน้นแยกขยะต้นทางและขยะเปียก โดยเจราจาขอร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ วัด โรงเรียน อาคาร ชุมชน ตลาด โดยมีชุมชน/องค์กรที่เข้าร่วมแล้ว 998 แห่ง ดำเนินการแล้ว 925 แห่ง สามารถลดปริมาณขยะเฉลี่ยร้อยละ 25 สามารถประหยัดงบประมาณได้ 85,400 บาทต่อวัน ในอนาคตปี 2567-2569 จะขยายผลโดยเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่มาร่วมกิจกรรม อย่างน้อย 3,600 แห่ง ซึ่งหากมีการร่วมมือกันคาดว่าจะสามารถดำเนินการลดปริมาณขยะได้ 100%
นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะ โดยจัดการขยะครบวงจร 3 กิจกรรม คือ 1. เก็บขยะแยกประเภท 2 ประเภท คือ “เศษอาหาร” และ “ขยะทั่วไป” คอนเซปต์ “ไม่เทรวม” โดยเศษอาหารนำส่งโรงงาน MBT (จัดการมูลฝอยชุมชนด้วยเทคโนโลยีเชิงกล-ชีวภาพ) และโรงงานหมักปุ๋ย อ่อนนุช และเปิดตัวโครงการไม่เทรวม เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 65 ที่สวนลุมพินี 2. ส่งเสริมการลดและคัดแยกขยะที่แหล่งกำเนิดตามหลัก Zero waste 3. ตั้งจุดทิ้งขยะแยกประเภท (drop-off point) เบื้องต้นมีการนำร่อง 3 เขต ได้แก่ เขตปทุมวัน เขตพญาไท เขตหนองแขม แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 นำร่องเก็บขยะแยกประเภท 3 เส้นทาง ก.ย.- ต.ค. 65 ระยะที่ 2 ขยายผลทุกเส้นทางในระดับแขวง พ.ย.- ธ.ค. 65 และระยะที่ 3 ขยายผลทุกเส้นทางในพื้นที่เขต 47 เขต ม.ค.- มี.ค. 66
เพิ่มชีวิตชีวาให้กับเมืองทุกวัน ด้วยกิจกรรมสร้างสรรค์
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนต้องทำในหลายมิติไปพร้อมๆ กัน ทั้งในเรื่องของโครงสร้าง สาธารณสุข ขยะ สวนสาธารณะ อย่างที่ทั้ง 3 ท่านได้กล่าวไปแล้ว ในส่วนของตนจะมาเติมในเรื่องของกิจกรรมทำให้เมืองมีชีวิต การดึงอัตลักษณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องคน ซึ่งทุกคนมีความสำคัญ และเราจะพูดถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ด้วย
ในเรื่องแรก คือ “สร้างเมืองมีชีวิต ให้ทุกคนมาใช้ชีวิต” ทุกท่านน่าจะเห็นกิจกรรมต่างๆ ที่กทม.จัดในช่วงที่ผ่านมา สืบเนื่องจากสถานการณ์โควิด เชื่อว่าทุกคนอยากที่จะออกจากบ้าน ทาง กทม.จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ดนตรีในสวน โดยกทม. ร่วมกับภาคี จัดขึ้นมากว่า60 ครั้ง หน่วยงานอื่น ๆ จัดอีกกว่า 100 ครั้ง รวมถึงเกิดกิจกรรมต่อยอดอื่นๆ อาทิ หนังสือในสวน บอร์ดเกมในสวน ธรรมะในสวน Book Club เป็นต้น ซึ่งในอนาคตเราก็จะจัดพื้นที่ให้มีการปลดล็อกของระเบียบต่างๆ เพื่อให้มีการเล่นดนตรีได้จริงๆ ในบางพื้นที่
12 เทศกาล 12 เดือน โดยในเดือน มิ.ย. 65 เราได้จัด Bangkok Pride Month สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งการจัดทุก ๆ เดือน ทำให้เกิดนโยบายใหม่ ๆ เช่น เรื่องที่รองผู้ว่าฯ ทวิดา พูดถึงนโยบายเกี่ยวกับ LGBTQ+ ที่เพิ่มขึ้นมา ในเดือน ก.ค. 65 เราได้จัด กรุงเทพกลางแปลง ดึงศักยภาพของหนังกลางแปลงกลับมา ให้สร้างชีวิตให้กับคนในเมือง ปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ แต่หลายๆ จังหวัด ได้มีการนำหนังกลางแปลงกลับมาฉายเช่นกัน โดยปลายปีนี้ เราจะนำกรุงเทพกลางแปลงกลับมาอีกหลายสัปดาห์ เพื่อให้ทุกคนได้มีกิจกรรมในวันหยุด ในเดือน ส.ค. 65 เรามี บางกอกวิทยา ทำให้เราเห็นมิติใหม่ของกรุงเทพฯ ทำให้เราเห็นว่าสวนสาธารณะไม่ได้มีแค่การออกกำลังกายและการฟังดนตรี แต่ยังสามารถไปดูตัวเงินตัวทอง ไปดูค้างคาว ไปดูผึ้ง ฯลฯ และได้เรียนรู้ในด้านนิเวศวิทยาในสวนสาธารณะได้ด้วย ทำให้ผู้คนเห็นว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้ ในเดือน ก.ย. 65 เรามี BKK-เรนเจอร์ เราอยากให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ด้วยเดือนนี้เป็นเดือนที่มีวันเยาวชนแห่งชาติ เราจึงจัดกิจกรรมในพื้นที่ศูนย์เยาวชน
ดึงอัตลักษณ์ย่านกระตุ้นเศรษฐกิจ เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง
เรื่องต่อมาคือ “การดึงอัตลักษณ์ย่าน เสริมสร้างชุมชนเข้มแข็ง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในกรุงเทพมหานครหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยได้นำร่อง 11 ย่าน ได้แก่ 1. ถนนแปลงนาม เขตสัมพันธวงศ์ 2. ย่านตลาดพลู (ตลาดรัชดาภิเษก) เขตธนบุรี 3. ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 (ชุมชนสวนหลวง 1) เขตบางคอแหลม 4. ย่านตลาดน้ำตลิ่งชัน ต่อเนื่องตลาดน้ำสองคลองวัดตลิ่งชัน เขตตลิ่งชัน 5. ย่านตลาดเก่าชุมชนหัวตะเข้ เขตลาดกระบัง 6. ย่านสะพานหัน-คลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร 7. ชุมชนริมคลองบางมด เขตทุ่งครุ 8. ย่านบางรัก เขตบางรัก 9. ย่านตลาดน้อย (คลองผดุงกรุงเกษม) เขตสัมพันธวงศ์ 10. ย่านนางเลิ้ง (คลองผดุงกรุงเกษม) เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ 11. ย่านคลองสาน เขตคลองสาน มากกว่านั้น เราก็ได้จัดกิจกรรมถนนคนเดิน 39 แห่ง ใน 50 เขต มีร้านค้า 1,855 ร้าน สร้างเศรษฐกิจ (มีการจับจ่ายใช้สอย) กว่า 28.6 ล้านบาท
สร้างสวัสดิการเพื่อคนด้อยโอกาส และจ้างงานคนพิการ
ต่อเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือคน เราได้ดูแลเรื่อง “Welfare เพื่อสร้างสวัสดิการสำหรับทุกคน” เพื่อให้คนไร้บ้าน ไม่ไร้สิทธิ ไม่ไร้งาน โดย กทม.ร่วมกับมูลนิธิอีกหลายๆ องค์กร เปิดพื้นที่บริการเฉพาะกิจ 4 จุด ได้แก่ ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ตรอกสาเก สถานีรถไฟหัวลำโพง และถนนราชดำเนินกลาง มีคนไร้บ้านมาใช้บริการ 150-250 คน/จุด/วัน เพื่อเป็นจุดบริการ เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และช่วยให้คนไร้บ้านกลับมามีบ้านในอนาคต
ในส่วนของการจ้างงานคนพิการ เมื่อก่อนกทม.จ้างงานคนพิการเพียง 112 คน ปัจจุบันจ้างงานคนพิการเพิ่ม 212 คน (เริ่ม มิ.ย. 65) ใน 50 เขต และสำนักพัฒนาสังคม รวมเป็น 324 คน แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ เราต้องทำงานเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งการจ้างของ กทม. ต้องการจ้างให้เกิดงานที่มีคุณภาพ ให้เป็นงานที่สมศักดิ์ศรี โดยเราได้ทำงานร่วมกับวัลแคน โคอะลิชั่น (Vulcan Coalition) ซึ่งเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพเพื่อสังคมที่จะมาช่วยดึงศักยภาพงาน ปัจจุบันเราได้ให้พี่ๆ คนพิการมาเป็นช่วยเป็นแอดมินตอบแพลตฟอร์ม Traffy Fondue
เปิดข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึง พร้อมเปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม
อีกเรื่องสำคัญต่อมา คือ “เปิดกรุงเทพฯ : Open Bangkok / เปิดข้อมูล : Open Data เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” เราได้เปิดเผยข้อมูลร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งเปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยงานของกทม. ภายใน 90 วัน (Executive Order) เราจึงได้จัด Data Literacy Training: อบรมการเปิดเผยข้อมูลกับข้าราชการ นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่งมีคนมาร่วมแจ้งความประสงค์สนับสนุนต้นไม้กว่า 1.6 ล้านต้น รวมถึงกิจกรรม Hack BKK (Open Innovation) เปลี่ยนกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองนวัตกรรม
ปลดล็อกการศึกษา กทม. เพื่อสร้างการเรียนรู้สมัยใหม่
ในเรื่อง “ปลดล็อกการศึกษา กทม. เพื่อสร้างการเรียนรู้สมัยใหม่” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้พูดอยู่เสมอว่า การศึกษาไม่สำคัญเท่ากับการเรียนรู้ กรุงเทพมหานครจึงมุ่งพัฒนาการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในชื่อ Open Education ซึ่งมีโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน วิชาชีพเลือกเสรี After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม
นอกจากนี้ กทม.ยังได้ “เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ เด็กและเยาวชน” ปัจจุบันเรามีทีมทำงานคนรุ่นใหม่เกิน 10 ทีม ที่มาช่วยกันในมิติต่าง ๆ โดยมีการประชุมที่ไม่ใช้โต๊ะ ประชุมล้อมวง แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน เพื่อระดมสมองในการผลักดันงานต่างๆ ในอนาคต
สำหรับแผนซึ่งเราจะไปต่อ มีดังนี้ ในเดือน ต.ค. 65 กทม.เข้าร่วม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) จะทำให้พื้นที่โรงเรียนถูกปลดล็อกระเบียบต่างๆ ได้ เราจะเปิดข้อมูลชุดแรกที่สำรวจมา เพื่อให้ประชาชนสามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ เปิดเผยสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง เปิด Oi Bangkok (Open innovation Lab) และ ในเดือน พ.ย. 65 เราจะปลดล็อกพื้นที่สาธารณะ เพื่องานศิลปวัฒนธรรม จะมีการจ้างงานอาสาเทคโนโลยีประจำชุมชน และ Food Bank นำร่อง 10 เขต ในเดือน ธ.ค. 65 เราจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ wifi โรงเรียน ปรับปรุงลานกีฬา มากกว่า 900 แห่ง และปรับปรุงบ้านหนังสือ 140 แห่ง ส่วนในปี 2566 เราจะเน้นในเรื่องของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Made in Bangkok (MIB) รวมไปถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัย และพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ซึ่งจะได้มาเล่าให้ทุกๆ ท่านฟังหลังจากนี้
ติดตามความคืบหน้านโยบาย ทาง policy.bangkok.go.th
ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ และโฆษกของ กทม. กล่าวว่า สำหรับการแถลงสรุปผลในวันนี้ ทำให้ประชาชนได้ทราบว่าเรากำลังทำอะไร และอนาคตจะทำอะไร แต่จะดีกว่าหรือไม่หากประชาชนไม่ต้องมานั่งรอการแถลงเพียงอย่างเดียว แต่สามารถติดตามสถานการณ์ ติดตามนโยบายได้ด้วยตนเอง ซึ่งเราได้มีการปรึกษากับท่านผู้บริหารกรุงเทพมหานครหลายท่าน และเกิดเป็นเว็บไซต์ที่จะแนะนำวันนี้
กทม.กำลังพัฒนาเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลข่าวสารของกรุงเทพมหานครให้ครบและจบในที่เดียว เพื่อให้ทุกท่านสามารถติดตามการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครได้ทุกมิติ เพราะเรามุ่งเน้นให้กทม.เป็นหน่วยงานที่เปิดเผย โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ได้อย่างแท้จริง
เว็บไซต์นี้จะประกอบไปด้วย 5 หมวดหมู่ ประกอบด้วย 1. เกี่ยวกับ กทม. 2. นโยบาย 3. หน่วยงาน/เขต 4. ข่าวสาร 5. ช่องทางการติดต่อ โดยส่วนที่เปิดให้เข้าดูได้แล้วคือหมวดหมู่ติดตามนโยบาย policy.bangkok.go.th ส่วนหมวดหมู่อื่นๆ อยู่ระหว่างการพัฒนา
สำหรับหมวดหมู่ “นโยบาย” ทั้งผู้บริหาร กทม. และประชาชน จะได้เห็นความคืบหน้าของนโยบายไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในขณะนี้เราได้ทยอยนำเข้าข้อมูลไปแล้ว 85 นโยบายด้วยกัน สามารถเข้าไปดูรายละเอียดแผนปฏิบัติการ (action plans) และความคืบหน้าได้ว่าเริ่มดำเนินการเมื่อไรอย่างไร ส่วนนโยบายที่เหลือกำลังสรุปแผนปฏิบัติการ และจะทยอยอัปเดตขึ้นเว็บไซต์เรื่อยๆ
ประชาชนสามารถเลือกดูนโยบายตามหมวดหมู่ 9 ด้าน 9 ดี ได้แก่ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี บริหารจัดการดี และเดินทางดี พร้อมกับมีสถานะความคืบหน้าของนโยบายทั้งหมด รวมถึงสามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อแนะนำให้เราพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นได้
ในอนาคตเราจะอัปเดตหมวดหมู่ “หน่วยงาน/เขต” โดยออกแบบให้ประชาชนใช้งานได้ง่ายที่สุด รวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญและมีประโยชน์ อาทิ รายละเอียดของหน่วยงาน ข่าวสาร ช่องทางการติดต่อ สำหรับผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดหรือบริการของหน่วยงาน สามารถคลิกเข้าไปดูเว็บไซต์หลักของหน่วยงานได้ สามารถดูแผนที่ สถานที่สำคัญภายในเขตได้ อีกทั้งยังมีการรวบรวมปัญหาเด่นๆ ในเขต ทั้งที่รวบรวมมาจาก Traffy Fondue การสำรวจของเจ้าหน้าที่ และสถิติจากหน่วยงาน สรุปปัญหาเส้นเลือดฝอยจาก Traffy Fondue พร้อมลิสต์ปัญหาที่แก้ไขแล้วและรอการแก้ไข หากเห็นว่าเขตนั้นๆ ยังมีปัญหาอื่นอีก ก็สามารถรายงานเข้ามาได้
“ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทางทีมงานของกรุงเทพมหานคร ท่านผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ตัวผมเอง ข้าราชการและบุคลากรของกรุงเทพมหานครทุกคน อยากจะร่วมกันพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้น และทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองแห่งความหวัง” ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯ และโฆษกของ กทม. กล่าวสรุปในตอนท้าย