xs
xsm
sm
md
lg

การปลูกฝังการอ่านเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ภูเบศร์ สมุทรจักร
อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม


การปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน ควรเริ่มตั้งแต่แรกเกิดโดย พ่อ แม่ สามารถเริ่มจากอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ซึ่งหนังสือที่ใช้ควรเป็นหนังสือที่น่าสนใจ มีคุณภาพ และเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย ยิ่งได้ซึบซับการอ่านเร็วและมากเท่าไหร่ ทักษะการอ่านของเด็กก็จะได้รับการพัฒนามากและเร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น และเด็กก็จะมีแนวโน้มที่จะรู้สึกรักและผูกพันกับพ่อเเม่

ทักษะการอ่านที่ดีในวัยเด็ก นำไปสู่การพัฒนาด้านการเรียนรู้ และศักยภาพด้านอื่น ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรของมนุษย์ การอ่านหนังสือให้เด็กอายุ 4-5 ปี ฟังทุกวัน ช่วยเสริมสร้างการมีระเบียบวินัย การแบ่งปัน พื้นฐานคุณธรรม จริยธรรม การใช้ภาษา ความรู้รอบตัวและทักษะทางคณิตศาสตร์

ปัจจุบันพบว่า เด็กปฐมวัยของไทยมีหนังสือนิทานหรือสมุดภาพที่บ้านเฉลี่ย 3.9-8.7 เล่ม และที่สำคัญ คือ ค่าเฉลี่ยของการมีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังที่บ้านต่ำว่าสุดส่วนของการมีหนังสือ ซึ่งหมายความว่า ครอบครัวจำนวนไม่น้อยมีหนังสือนิทานที่บ้าน แต่ไม่มีใครอ่านหนังสือให้เด็กฟัง นอกจากนี้ สื่อโซเซียลในปัจจุบัน ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่แย่งเวลาการอ่านหนังสือของเด็ก โดยพบว่าในกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ใช้เวลากับอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเซียลต่อวันสูงที่สุด จำนวน 12 ชั่วโมง 8 นาที และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ทั้งยังพบว่า ครอบครัวจำนวนไม่น้อย ขาดความเข้มงวดในการใช้สื่อโซเซียลของเด็กๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะมีการควบคุมระยะเวลาการใช้หรือเนื้อหาที่มีความเหมาะสม โดยอยู่ในระดับที่เสี่ยงร้อยละ 44-62 และในระดับที่เสี่ยงมากร้อยละ 7-12

ผลกระทบต่อการพัฒนาการของเด็ก ความสามารถในการอ่านเชิงวิเคราะห์ของเด็กไทยถดถอยลง ต่ำกว่าคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organization for Economic Co-operation and Development หรือ OECD และหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารโลกระบุว่า ความยากจนทางการเรียนรู้คือ ภาวะที่เด็กไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ หรืออ่านออกเขียนได้น้อยมากเมื่อมีอายุครบ 10 ปี ซึ่งมีทั้งผลลัพธ์และจุดเริ่มต้นของความยากไร้อื่นๆ ซึ่งในประเด็นนี้จะกระทบต่อศักยภาพของทรัพยากรของไทยในอนาคต ทักษะการอ่านที่ไม่ดีพอ ประกอบกับการใช้สื่อโซเซียลที่มากเกินไป ส่งผลต่อพัฒนาการทางการใช้ภาษาพูด และเขียนช้าและที่สำคัญคือ เสี่ยงต่อการมีสมาธิสั้น ขาดการคิดวิเคราะห์ ขาดโอกาสในการเรียนรู้ มีความเสี่ยงสูงต่อการแสดงออกก้าวร้าว และการเก็บกด
ดังนั้น องค์กรส่วนท้องถิ่น จึงควรดำเนินกิจกรรมในพื้นที่เพื่อผลักดันให้ครอบครัวได้ตระหนัก ถึงความสำคัญของการปลูกฝังการอ่านให้แก่เด็กและเยาวชน และสนับสนุนให้พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวอ่านหนังสือให้เด็กฟัง หรือร่วมกันอ่านหนังสือกับเด็ก โดยชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองสามารถทำได้ทันที และทำได้ง่ายๆ ภายในครอบครัว สร้างวินัยเพื่อควบคุมการใช้สื่อโซเซียลของเด็กให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งจัดสรรหนังสือที่เหมาะสม และทันสมัยให้แก่ครอบครัวในชุมชนที่รับผิดชอบอย่างทั่วถึง




กำลังโหลดความคิดเห็น