กรมวิทย์เผยผลทดสอบภูมิคุ้มกัน "ปลูกฝีดาษคน" ไม่ช่วยป้องกันฝีดาษลิง ระดับภูมิคุ้มกันต่ำมาก ส่วนวัคซีนเก่าเก็บไม่จำเป็นต้องเอามาใช้ฉีดทุกคน ส่วนวัคซีนฝีดาษคนรุ่นใหม่ ไม่ต้องปลูกฝี ไทยสั่งมาแล้ว 1 พันโดส ย้ำมาตรการป้องกันโควิดใช้ป้องกันฝีดาษลิงได้ หารือสถาบันวัคซีนฯ-มหาวิทยาลัย เล็งทำวัคซีนฝีดาษลิงเฉพาะ อาจเป็นเชื้อตายที่ทำได้ง่าย
เมื่อวันที่ 5 ก.ย. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวภูมิคุ้มกันต่อเชื้อฝีดาษวานรหรือฝีดาษลิง (Monkeypox) ว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทย 7 ราย เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก 2 สายพันธุ์ย่อย คือ B.1 จำนวน 1 ราย และ A.2 จำนวน 6 รา ยเราสามารถเพาะเชื้อขึ้นทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อย โดยจะนำมาทดสอบกับคนที่เคยปลูกฝีดาษในอดีต ว่ายังมีภูมิคุ้มกันหลงเหลือพอจัดการกับเชื้อโรคฝีดาษลิงได้หรือไม่ ซึ่งประเทศไทยหยุดปลูกฝีช่วงปี 2523 ดังนั้น คนที่เกิดหลังจากนี้จึงไม่ได้รับวัคซีน เพราะเรากวาดล้างฝีดาษหมดไปแล้ว สำหรับการตรวจภูมิคุ้มกันผู้ที่ปลูกฝีต่อเชื้อฝีดาษลิง ใช้วิธีตรวจมาตรฐานสากลของโลก โดยเอาภูมิคุ้มกันในร่างกายมาจัดการกับเชื้อโดยตรงๆ คือ วิธี PRNT50 เอาน้ำเลือดมาจางลงเป็นเท่าๆ ไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่ฆ่าเชื้อได้ครึ่งหนึ่งเป็นจุดสุดท้าย แล้วดูค่าไตเตอร์ว่าได้ผลเท่าไร ใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งตัวเลขที่บ่งบอกว่าป้องกันโรคได้ คือมีค่าไตเตอร์มากกว่า 32 ถึงจัดการกับเชื้อได้ ถ้าต่ำกว่าคือมีภูมิคุ้มกันแต่ไม่สูงพอ
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า เราเปิดรับอาสาสมัครเป็นช่วงอายุ 45-54 ปี 55-64 ปี และ 65-74 ปี จำนวนช่วงอายุละ 10 คน เอาเลือดมาตรวจกับทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อย พบว่า ช่วงอายุ 45-54 ปี ทั้งต่อ B.1 และ A.2 ไม่มีใครขึ้นถึง 32 ส่วนใหญ่น้อย 10 ส่วน 55-64 ปี ภูมิไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไร มี 2 รายเท่านั้นที่มีภูมิต่อ A.2 ระดับ 35 และ 39 กัน และ 1 รายต่อ B.1 อยู่ที่ 32 ก็ถือว่าป้องกันได้แบบปริ่มๆ ส่วนอายุ 65 ปีขึ้นไป ไม่มีใครถึง 32 เช่นกัน มากสุดคือ 30 ต่อ A.2 ส่วนคนที่ติดเชื้อแล้วเหมือนให้วัคซีนธรรมชาติในกลุ่มที่ติดเชื้อ A.2 พบว่า เมื่อทดสอบกับ B.1 ป้องกันได้จำนวนหนึ่ง เพราะคนละสายพันธุ์ ไตเตอร์ประมาณ 54 และ 51 แต่ป้องกัน A.2 ได้มากกว่า 80 และ 192 เพราะเชื้อตรงกัน ขณะที่เด็กเพิ่งเกิดมา ไม่ได้ฉีดวัคซีน ไม่ได้ติดเชื้อเอามาตรวจ 3 ราย พบว่าต่ำกว่า 4 แทบไม่มีภูมิคุ้มกัน
"สรุปค่อนข้างชัดเจนว่า การปลูกฝีมากว่า 40 ปี ส่วนใหญ่ 28 คน ป้องกันฝีดาษลิงไม่ได้ มีภูมิขึ้นแค่เล็กน้อย มีเพียง 2 รายที่ป้องกันได้แบบปริ่มๆ ดังนั้น วัคซีนฝีดาษที่เก็บโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่เป็นวัคซีนรุ่นหนึ่ง จะนำมาใช้หรือไม่ หลักการก็ต้องชั่งน้ำหนักว่าคุ้มหรือไม่ เพราะเด็กจะยอมมีแผลเป็นตรงนี้หรือไม่ และวันนี้ไม่มีเชื้อฝีดาษคน มีแต่ฝีดาษลิง ความเสี่ยงต่ำ ขณะที่มีรายงานจำนวนหนึ่งว่าเกิดผลกระทบร้ายแรง มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อไขสันหลังอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจจำนวนหนึ่ง เท่าที่ทั่วโลกคุยกันคือไม่คุ้มถ้าจะไปฉีดทุกคน ก็ต้องระมัดระวังตัวเอง แต่โอกาสติดต่ำมาก" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้กำลังหารือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติและมหาวิทยาลัยในประเทศบางสถาบัน ที่จะขอตัวอย่างเชื้อไปเพื่อทำวัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงๆ ได้หรือไม่ เราก็สนับสนุน ถ้าใครทำได้เองในประเทศไทย ราคาก็อาจไม่แพง ถ้าปลอดภัย ก็เป็นเมดอินไทยแลนด์วัคซีน อาจจะเป็นรายแรก็ได้ ก็กำลังคุยหาลู่ทางดำเนินการ ซึ่งง่ายสุดก็คือทำเป็นเชื้อตาย น็อกให้หมดฤทธิ์และฉีดกระตุ้นทำได้เร็วได้ง่าย เป็นแพลตฟอร์มที่คุ้นชิน
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับวัคซีนฝีดาษลิงโดยตรงยังไม่มีใครทำ เพราะเข้าใจว่าทำแล้วก็ไม่แน่ใจว่าคุ้มกับการขายหรือไม่ และมีราคาแพง สิ่งที่ใช้คือวัคซีนฝีดาษคน แต่ฉีดแล้วข้ามไปกันฝีดาษลิงได้ด้วย เพราะเป็นตระกูลใกล้เคียงกัน ได้ผลประมาณ 85% ซึ่งขณะนี้แบบปลูกฝีไม่มีแล้วเพราะเสี่ยงพอสมควร ปัจจุบันมีวัคซีนรุ่นสามของ JYNNEOS ซึ่งอเมริกาและยุโรปก็อนุมัติให้ใช้แล้ว วิธีฉีดมี 2 แบบ คือ ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ใช้วัคซีนจำนวนไม่มาก 0.1 มิลลิลิตร และฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ทะลุหนังลงไปอยู่ในชั้นไขมัน ใช้วัคซีน 0.5 มิลลิลิตร ซึ่งประเทศไทยซื้อมา 1 พันโดส ฉีด 2 ครั้งได้ 500 คน ส่วนฉีดใครบ้าง กรรมการวิชาการก็ต้องตั้งกติกา และยังไม่ใช่วัคซีนทั่วไปในการใช้ฉีด
"วัคซีนฝีดาษยังไม่จำเป็นต้องฉีดในคนทั่วไป เพราะการติดเชื้อไม่ได้รวดเร็ว ผ่านมาหลายเดือนมีผู้ป่วย 7 ราย มีเหตุที่มาที่ไปชัดเจน สัมผัสใกล้ชิดนัวเนียทั้งสิ้น ไม่ได้ติดแบบโควิดที่กินข้าวร้านเดียวกันแล้วติด โอกาสแพร่กว้างขวางใหญ่โตไม่มี จึงไม่มีความจำเป็น สายพันธุ์แพร่ระบาดส่วนใหญ่เป็นแอฟริกาตะวันตก A.2 ไม่รุนแรง อัตราตายต่ำมาก ต่ำกว่าโควิดหลายร้อยหลายสิบเท่า ยกเว้นคนภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี กินยากดภูมิหรือโรคที่ทำให้ภูมิน้อย เด็กเล็กที่ยังไม่มีภูมิเลย แต่มาตรการป้องกันโควิดทั้งล้างมือ สวมหน้ากาก และเว้นระยะห่าง สามารถใช้ป้องกันได้ฝีดาษลิงได้" นพ.ศุภกิจกล่าว