xs
xsm
sm
md
lg

อย่าหาทำ! ครูสาวทำคอนเทนต์แบ่ง "โกโก้" เด็กดื่ม เพิ่มเสี่ยงติดเชื้อสารพัด ย้ำติดหวานทำให้อ้วน ไม่ใช่โกโก้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ชี้ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน เสี่ยงติดเชื้อสารพัด ทั้งหวัด หวัดใหญ่ คางทูม ตับอักเสบ โควิด ยิ่งคนมีภูมิต่ำ มีแผลในปาก เชื้อราในปาก เหงือกอักเสบ ยิ่งเสี่ยง ยกเคสครูทำคอนเทนต์กินโกโก้ยังไงไม่ให้อ้วน แบ่งโกโก้กินแล้วให้เด็กกินต่อ ไม่ควรทำ ย้ำติดหวานทำให้อ้วน ไม่ใช่โกโก้

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีดรามาในสังคมออนไลน์ ครูสาวโพสต์คลิปใน Tiktok "How to กินโกโก้ยังไงไม่ให้อ้วน" เป็นภาพครูที่ดูดโกโก้แล้ว นำน้ำโกโก้มาแบ่งให้เด็กนักเรียนหลายคนดื่มต่อ ซึ่งเจ้าตัวอ้างเป้นคนละแก้ว ว่า การดื่มแก้วเดียวกันถือเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยง ไม่ควรทำ เพราะปากเป็นช่องทางการนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย และโรคหลายชนิดอยู่ในน้ำลาย โพรงจมูก ลำคอ ได้แก่ โรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หรือเชื้อจากแผลบริเวณริมฝีปาก กระพุ้งแก้ม หรือโรคเหงือก และฟันอักเสบ ซึ่งปกติในปากและน้ำลายของแต่ละคนมีเอนไซม์ และภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้บางส่วน และการติดโรคทางน้ำลายมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับปริมาณความรุนแรงของเชื้อ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำเสี่ยงติดเชื้อสูง หรือผู้รับเชื้อมีแผลในปาก มีเชื้อราในปาก เหงือกอักเสบ ก็จะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คางทูม ไวรัสตับอักเสบเอและอี โรคติดเชื้อโควิด 19 รวมทั้งยังเสี่ยงกับโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสในน้ำลายอื่น ๆ ด้วย

สำหรับการดื่มโกโก้ไม่ให้น้ำหนักเพิ่มนั้น การดื่มโกโก้อย่างเดียวไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น หากดื่มในปริมาณที่เหมาะสมและไม่เติมน้ำตาลมากไป เพราะในครื่องดื่มประเภทโกโก้เย็น ชาเย็น กาแฟเย็น ชาเขียวเย็น ใน 1 แก้ว มีน้ำตาลเฉลี่ย 10 - 11 ช้อนชา ดังนั้น สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม คือ การมีพฤติกรรมติดอาหารหวานหรือติดรสหวาน ผู้บริโภคจึงต้องให้ความสำคัญโดยไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน หรือเลือกสั่งแบบหวานน้อยเพื่อลดน้ำตาลลง หรือเลือกดื่มน้ำเปล่าแทน เครื่องดื่มรสหวาน ก็จะดีต่อสุภาพมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น