xs
xsm
sm
md
lg

คาด ต.ค.เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์เด็ก 6 เดือนได้ ยัน 3 ล้านโดสเพียงพอ เล็งฉีดใน รพ.-ศูนย์เด็กเล็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคผยเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปีมี 3 ล้านคน ประสงค์ฉีด 30-40% หรือ 1 ล้านคน เร่งปรับสัญญาซื้อวัคซีนไฟเซอร์เป็นสูตรเด็ก 6 เดือนถึง 5 ปี 3 ล้านโดส ก่อนนำเข้า ครม.ใหม่ คาดเพียงพอ เล็งให้ฉีดใน รพ.ร่วมกับศูนย์เด็กเล็ก คาดฉีดได้ใน ต.ค.นี้ ส่วนวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่ช่วยป้องกันติด BA.4/BA.5 รแต่ลดป่วยหนัก-ตายได้สูงถึง 6 เดือน

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 ของไฟเซอร์ สูตรเด็กอายุ 6 เดือน ถึงต่ำกว่า 5 ปี ว่า กรมควบคุมโรคร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ปรับเปลี่ยนสัญญาจัดซื้อวัคซีน 3 ล้านโดส เพื่อเปลี่ยนเป็นวัคซีนเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปี ซึ่งอัยการสูงสุดมีข้อแนะนำมา กรมควบคุมโรคก็จะต้องนำมาปรับแก้ในสัญญา เมื่อปรับเสร็จแล้วก็จะนำเข้าในที่ประชุม ครม.ให้ความเห็นชอบอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ได้หารือกับบริษัทผู้ผลิตเบื้องต้นแล้ว บริษัทฯ มีความพร้อมในการผลิตและส่งวัคซีนมาให้กับไทย สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 5 ปีในไทยมีราว 3 ล้านคน สำรวจความประสงค์ของผู้ปกครองเด็กกลุ่มนี้ พบว่ามี 30-40% หรือ 1 ล้านคน สนใจให้เด็กรับวัคซีน ฉะนั้น การจัดซื้อวัคซีนเบื้องต้น 3 ล้านโดสจึงมีความเพียงพอ

"วัคซีนในเด็กเล็กของไฟเซอร์เป็นตัวยาเดียวกันกับผู้ใหญ่ แต่ใช้ปริมาณลดลง 1 ใน 10 อาการไม่พึงประสงค์หลังรับวัคซีนก็จะลดน้อยกว่ามาก การฉีดในเด็กเล็กมาก จะเปิดฉีดใน รพ.โดยให้ผู้ปกครองติดต่อขอรับวัคซีน อีกรูปแบบที่เล็งไว้คือ ฉีดในศูนย์เด็กเล็ก กลุ่มอายุ 3-4 ขวบ ซึ่งไม่เคยฉีดลักษณะนี้มาก่อน จึงต้องประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) จะเข้าไปดูแลการฉีด เพื่อความปลอดภัย คาดว่าจะมีความพร้อมฉีดวัคซีนเด็กเล็กใน ต.ค.นี้" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาส กล่าวว่า ส่วนประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด 19 จากการใช้จริงในประเทศไทย ช่วง พ.ค. - ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 คณะทำงานศูนย์ประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลวัคซีน กรมควบคุมโรค ร่วมกับคณะทำงานวิชาการ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในการเก็บข้อมูล พบว่า วัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มประสิทธิผลป้องกันป่วยรุนแรง คือ ปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ จาก 60% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 83% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็ม , ป้องกันการเสียชีวิตจาก 72% ในผู้ที่ได้รับครบ 2 เข็ม เป็น 93% และ 100% ในผู้ที่ได้รับครบ 3 เข็มและ 4 เข็ม

"สำหรับกลุ่มสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ป้องกันปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มได้ 80% ต่ำกว่ากลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่ป้องกันได้ 89% แต่จะเพิ่มเป็น 100% เมื่อได้รับครบ 4 เข็มเช้นกัน การฉีดวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป จะมีประสิทธิผลป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตในระดับสูงกว่า 80% ได้นานถึง 6 เดือน อย่างไรก็ตาม แม้จะฉีดเข็มกระตุ้นแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่จะไม่ป่วยหนักหรือเสียชีวิต" นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า ขณะนี้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แนวทางการควบคุมโรคต้องดำเนินการอย่างสมดุล ทั้งมาตรการวัคซีน ที่เร่งรัดฉีดเข็มกระตุ้นในประชากรเป้าหมายให้ครอบคลุมสูงสุด มาตรการสังคม ที่ต้องใช้ชีวิต วิถีใหม่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง และจัดการสภาวะแวดล้อมเสี่ยง และมาตรการการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ รู้สถานะการติดเชื้อเร็ว และรักษาเร็วด้วยยาที่มีประสิทธิผล


กำลังโหลดความคิดเห็น