เลขาฯ รมว.อว.ลงพื้นที่ U2T for BCG เยาวราช โชว์ผลงานใช้เทคโนโลยีจัดการกากตะกอนไขมันบริเวณตลาดสดเล่งบ๊วยเอี๊ยะก่อนนำมาผลิตไบโอดีเซลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมร่วมเรียนรู้ประเพณีศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนด้วยการทำ “มังกรบ๊ะจ่าง” ตัวแรกของโลก
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ U2T for BCG ที่แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้การดูแลของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ บพิตรพิมุข จักรวรรดิ (มทร.รัตนโกสินทร์) โดยมี รศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี มทร.รัตนโกสินทร์ และผู้บริหารร่วมลงพื้นที่ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยดร.ดนุช และคณะ ได้ไปดูการจัดการกากไขมันร้านอาหารในพื้นที่เยาวราช บริเวณตลาดสด เล่งบ๊วยเอี๊ยะ เป็นต้น
จากนั้น ดร.ดนุช ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่แขวงสัมพันธวงศ์ เน้นพื้นที่หลักคือ ย่านเยาวราช ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีลักษณะวัฒนธรรม อาหาร วิถีชีวิตที่โดดเด่น มีอัตลักษณ์อย่างชัดเจน และยังเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ โดยทีม U2T for BCG ของ อว. ที่มีทั้งบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ ภายใต้การดูแลของ มทร.รัตนโกสินทร์ ได้เข้ามามีส่วนสนับสนุนและทำงานกับชุมชนในหลายด้าน เช่น การจัดการกากไขมันร้านอาหารในบริเวณตลาดสด เล่งบ๊วยเอี๊ยะ โดยใช้เทคโนโลยีมาจัดการกับกากตะกอนไขมันจากท่อระบายน้ำ เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการรักษาประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม ฟื้นฟูสิ่งที่กำลังจะสูญหายและต่อยอดให้เกิดสิ่งใหม่ โดยเฉพาะการนำวิถีชีวิตของชุมชนมาร้อยเรียงเรื่องราวและประยุกต์ให้ทันสมัย จนเกิดเป็น “มังกรบ๊ะจ่าง” ตัวแรกของโลก ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน วิธีการคือนำเอาบ๊ะจ่างกว่า 800 ลูกมาเรียงร้อยให้เป็นตัวมังกรขนาดใหญ่สีสันสวยงาม ซึ่งถือเป็นผลงานของคนรุ่นใหม่ในโครงการ U2T for BCG นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้ประเพณีศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนชาวจีนด้วย
เลขานุการ รมว.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ โครงการ U2T for BCG ยังดำเนินกิจกรรมการบริหารจัดการและเพิ่มมูลค่าขยะผ่านงานศิลปะที่โดดเด่นของชุมชน คือ หน้ากากจีน จากกระดาษที่เหลือใช้นำมาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะที่โดดเด่นของพื้นที่ นี่คือการเชื่อมโยงและต่อยอดภูมิปัญญาของชุมชนชาวจีนออกมาเป็นรูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของพื้นที่ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 และยังเกิดการสืบทอดประเพณี ศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนจากรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย