xs
xsm
sm
md
lg

เปิดสาเหตุ "เด็กไทย" ยุคนี้ "ซึมเศร้า-เครียด-ไร้ความสุข" แบกรับคาดหวังพ่อแม่ สังคมกดทับ ไม่เป็นตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หมอเด็กเผย "โควิด" ทำเด็กไทยและครอบครัว มีปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น พบ 90% มาด้วยภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด ไม่มีความสุข บางครอบครัวซึมเศร้าทั้งพ่อแม่และลูก สะท้อนปัญหาเกิดจากสังคมกดทับ แบกรับความคาดหวังพ่อแม่ ต้องละทิ้งความฝันเป็นตัวของตัวเอง เก็บกด ใช้ชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ แถมผู้ใหญ่ไม่รับฟังเสียงเด็ก แนะสร้างพื้นที่รับฟังอย่างปลอดภัย

ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คลินิกเพศหลากหลายวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” กล่าวในเวทีเสวนา "ตั้งหลักใหม่ เติมความฝันเด็กและเยาวชนไทย" ในเวทีสาธารณะเด็กและครอบครัวไทยในสามวิกฤต: รายงานสถานการณ์เด็กและครอบครัว ประจำปี 2022 ว่า จากการดูแลรักษาวัยรุ่น พบว่า ผลพวงจากการระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้เด็กและครอบครัวเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น อย่างคลินิกวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี พบว่าปัญหาสุขภาพจิต 90% มาด้วยซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด และไม่มีความสุข ที่เห็นชัดกว่าคือ พ่อแม่ที่พาเด็กมาก็ซึมเศร้าด้วย อย่างครอบครัวหนึ่ง น้องวัยรุ่นมารับฮอร์โมนข้ามเพศอยู่นานแล้ว ซึ่งตรงนี้ไม่อยู่ในสิทธิสวัสดิการ น้องต้องทำงานเก็บเงินมาจ่ายเอง แต่เมื่อคุณยายติดโควิด แม้จะไม่เสียชีวิต แต่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ คุณแม่ลาออกจากงานมาดูแล ก็กระทบเรื่องค่าใช้จ่าย น้องถูกขอให้กลับมาบ้าน ออกจากมหาวิทยาลัย ต้องมาใช้แรงงานในร้านสะดวกซื้อเพื่อให้ทุกคนในครอบครัวรอด

"เด็กคนนี้ก็ไม่ได้รับฮอร์โมนต่อ กลับมามีหนวดเครา เขาก็เครียดเพราะรับฮอร์โมนมาตั้งนาน สุดท้ายกลับมาเป็นเหมือนเดิม ถูกกดทับจากความรู้สึกที่ไม่เป็นตัวเอง ไม่ได้เรียนต่อ แบกรับภาระครอบครัว ขณะที่แม่ก็เผชิญกับความรู้สึกผิดว่าตนกลายเป็นผู้ทำลายอนาคตของลูกหรือไม่ เรียกว่าซึมเศร้ากันทั้งแม่และลูก จริงๆ ยังมีเคสอีกมากที่ยังไม่ได้เข้าระบบบริการ อย่างคลินิกเรามีคิวขอรับบริการยาวเป็นปี ทำให้มีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ ยิ่งหลังโควิดเคสเพิ่มขึ้นเยอะมาก สะท้อนว่าคนมีปัญหาสุขภาพจิตเยอะ แต่ระบบบริการก็ยังไม่เพียงพอ" พญ.จิราภรณ์กล่าว


พญ.จิราภรณ์กล่าวต่อว่า ปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่นมีความสำคัญมาก จะพบว่ามีเด็กฆ่าตัวตายเยอะมาก แล้วยังมีที่เด็กเสียชีวิตแต่ไม่เป็นข่าวอีกมาก ส่วนหนึ่งปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น เกิดจากเด็กเติบโตมาในสังคมที่ไม่โอบอุ้มความฝันที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง เช่น จะเป็นเพศไหนก็มีอุปสรรค อยากทำอาชีพอะไรก็ไม่สามารถเลือกเองได้ เพราะอยู่ในสังคมที่ถูกกดทับด้วยคำว่าต้องอยู่รอด และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งคุณภาพชีวิต คุณภาพการศึกษาไม่รองรับ รวมถึงมีปัญหาเรื่องเศรษฐานะ ทำให้ความฝันของเด็กไม่ถูกตอบรับ อย่างวันนี้ก็พบกรณีของน้องคนหนึ่งอยากจะเป็นครูบนดอย แต่สุดท้ายจากปัญหาโควิดทำให้หลุดจากระบบการศึกษา

"ครอบครัวส่วนใหญ่แทบไม่ได้เลี้ยงลูกเอง เพราะไม่มีนโยบายให้หยุดเลี้ยงลูกมากกว่า 3 เดือน เด็กถูกส่งให้คนอื่นเลี้ยง เด็กจำนวนหนึ่งไม่ได้โตมาโดยมีพ่อแม่ที่แท้จริง ก็จะรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย ไม่ได้เป็นที่รัก พอโตมาก็ถูกกวดขันอย่างเข้มงวด อยู่ในความคาดหวังของพ่อแม่ เพราะทำงานหาเงินมาลงทุนซื้อความปลอดภัยในชีวิตผ่านระบบการศึกษา ให้ลูกสอบเข้าโรงเรียนที่ดี หวังลูกมีอนาคตที่ดี เรียกว่าเอาเงินทั้งชีวิตมาลงทุน แล้วจะไม่คาดหวังลูกให้เป็นเจ้าคนนายคน มีอาชีพที่ดูทำกินได้เงินดีได้อย่างไร ความฝันหลายอย่างของลูก พ่อแม่ก็ไม่ยอมรับ" พญ.จิราภรณ์กล่าว

พญ.จิราภรณ์กล่าวว่า เด็กจำนวนหนึ่งจึงแบกรับปัญหาสุขภาพจิต ต้องเลือกอาชีพที่ตอบแทนรายได้ดี ซึ่งไม่กี่อย่าง เช่น แพทย์ วิศวกร ทนาย งานช่างก็ถูกมองเป็นระดับรอง ค่าตอบแทนต่ำ เด็กจำนวนหนึ่งเลยคิดว่าไม่ฝันดีกว่า ฝันไปก็ไม่ถูกโอบกอด รู้สึกเก็บกด ไปดำเนินชีวิตเหมือนหุ่นยนต์ จะเป็นอะไรก็เป็นไป หรือไปเป็นข้าราชการเพื่อให้พ่อแม่จะได้เบิกจ่ายค่ารักษาได้ ที่เศร้ากว่านั้นคือเสียงที่ถูกปล่อยออกมาของเด็กก็ไม่ได้รับการตอบรับ ถูกทำให้รู้สึกว่าไม่ควรส่งเสียง กลายเป็นเขาผิด เขาไม่ดี เลว ทำให้รู้สึกครอบครัวไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัย ทั้งนี้ การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก ต้องสร้างพื้นที่การรับฟัง เพื่อเข้าใจจริงๆ ไม่ใช่เพื่อสั่งสอน ฟังให้ลึกว่าเขาต้องการอะไรในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

"นอกจากที่บ้านแล้ว เด็กก็ต้องการความปลอดภัยในโรงเรียน ไม่อยากให้ใครมากล้อนผมเขา เขาก็อยากได้ความเคารพและการรับฟังเช่นกัน ส่วนภาครัฐมีปัญหาเรื่องของโครงสร้าง ระบบสวัสดิการรัฐที่ไม่โอบอุ้มให้เราทุกคนมีความฝัน ทั้งที่มนุษย์เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดและควรลงทุน จึงเป็นคำถามว่าเราไม่มีเงินลงทุนกับเด็กจริงหรือ" พญ.จิราภรณ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น