พัฒนาแพลตฟอร์ม "ซาไก แชทบอท" ผลงาน U2T for BCG อัยเยอร์เวง ยะลา สุดเจ๋ง ศูนย์รวมข้อมูลการท่องเที่ยวตำบลอัยเยอร์เวงและตำบลใกล้เคียง มีทั้งสถานที่ที่ควรไป ร้านอาหารอร่อย เส้นทางเดินทาง ใช้งานได้ 3 ภาษา คือ อังกฤษ จีน มาเลเซีย ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมด้วยนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี หัวหน้ากลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด อว. ลงพื้นที่ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของ "U2T for BCG" โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG )” มีนายซอลาฮุดดีน ยาญา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลอัยเยอร์เวง ผศ.ดร.เกศรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น นายวิชาพร ชินประพัทธ์ ผอ.วิทยาลัยชุมชนยะลา คณาจารย์และผู้เข้าร่วมโครงการ U2T ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุมหารือการดำเนินงานโครงการ U2T for BCG จังหวัดยะลา
น.ส.นิสากร กล่าวว่า โครงการ U2T for BCG เปรียบเสมือนไม้ขีดก้านแรกที่จุดไฟการทำงานร่วมกันของ อว. มหาวิทยาลัย อบต. และภาคส่วนต่างๆ และที่สำคัญ คือ คนในพื้นที่ และถึงแม้ว่าโครงการนี้จะจบลงไป แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังมีองค์ความรู้ที่สามารถทำได้ต่อด้วยตนเอง และกระบวนการที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้นั้น คือ การจัดการร่วมกันทั้งหน่วยงานกฎหมาย หน่วยงานท้องถิ่นและการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ชุมชนในบริเวณที่ทาง อว. เอาโครงการ U2T for BCG เข้าไปช่วย จะสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า บริการและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ด้านนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า อว. และ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้นำเอาเทคโนโลยีที่เป็นแพลต์ฟอร์มในไลน์ที่ชื่อว่า "Sakai Chatbot บริการข้อมูลการท่องเที่ยวตำบลอัยเยอร์เวง" มาเป็นส่วนหนึ่งที่ถ่ายทอดประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวตำบลอัยเยอร์เวงและตำบลใกล้เคียง ซึ่งโปรแกรมนี้เป็นแพลตฟอร์มซึ่งสามารถ ถาม-ตอบ ว่าที่นี่มีอะไรน่าสนใจ มีสถานที่ใดที่ควรไป มีอาหารอะไรอร่อย มีเส้นทางเดินทางอย่างไร เกิดเหตุฉุกเฉินต้องแจ้งใคร ฯลฯ และเป็นระบบที่มีการอัพเดทและพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกโดยจะสามารถใช้ได้ อีก 3 ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนและภาษามาเลเซีย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่ และถึงแม้จะเป็นโครงการระยะสั้นแต่อยากให้มหาวิทยาลัยร่วมกับทาง อบต. อัยเยอร์เวงในการพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการลดขั้นตอนการสื่อสารและสะดวกต่อการใช้งานต่อไป
"อีกหนึ่งการต่อยอดที่น่าสนใจของอัยเยอร์เวง คือ การนำเอาเทคโนโลยีเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ผลงานของน้องๆ ที่ร่วมโครงการ U2T ในเฟส 1 มาเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผลิตภัณฑ์ในพื้นที่เป็นการร่นระยะเวลาการผลิตโดยเครื่องอบแห้งดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของแผงรับแสงอาทิตย์ทําหน้าท่ีดูดซับความร้อนจากแสงอาทิตย์แล้วส่งผ่านไปยังห้องอบแห้ง และส่วนของห้องอบแห้งทําหน้าที่เป็นแหล่งรวมความร้อนในการอบแห้งผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบอบแห้ง และการ Repackaging Design ปรับโฉมผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบอบแห้งที่นอกจากอร่อยแล้ว ยังสามารถดึงดูดความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมอัยเยอร์เวงให้กลายเป็นหนึ่งในของฝากที่ต้องซื้อกลับไปในอนาคต" นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว