xs
xsm
sm
md
lg

วัยรุ่นไทยหลายล้านมีปัญหาสุขภาพจิต 17.6% คิดฆ่าตัวตาย เร่งสร้างพื้นที่ปลอดภัย ขยายสายด่วนรับฟัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบวัยรุ่นไทย 10-19 ปี ถึง 1 ใน 7 คน และ 5-9 ปี อีก 1 ใน 14 คน ผิดปกติทางจิตประสาท พบ 17.6% มีความคิดฆ่าตัวตาย เป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับ 3 ในเยาวชน คาดเด็กไทยหลายล้านคนมีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า แนะปรับระบบการเข้าถึงบริการสุขภาพจิต สร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน ขยายสายด่วนสุขภาพจิตรองรับ

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. ที่ รพ.ศรีธัญญา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและเยาวชนในประเทศไทย โดยกรมสุขภาพจิต ร่วมกับยูนิเซฟ ประเทศไทย

นายอนุทิน กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 กำหนดให้การดูแลสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของคนทุกกลุ่มอายุ เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศ แต่เด็กและวัยรุ่นปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจหลายประการ และภัยจากโควิด จำเป็นต้องมีนโยบายบูรณาการสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ระดับชาติ เพื่อปิดช่องว่างในการดูแลสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน  เช่น ทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย สร้างความมั่นใจ เด็กในระบบยุติธรรมและกลุ่มเปราะบางได้รับการสนับสนุนและการดูแลด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสริมสร้างบริการด้านสุขภาพจิตสำหรับเด็กและวัยรุ่นในทุกระดับ


นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัด สธ. กล่าวว่า รายงานการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับประเทศไทย ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์ สอดคล้องกับผลสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนทั่วโลก ในส่วนของประเทศไทยเมื่อปี 2564 พบว่า ร้อยละ 17.6 ของวัยรุ่นอายุ 13-17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตาย

"การฆ่าตัวตาย คือ สาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ของวัยรุ่นไทย เป็นข้อบ่งชี้สำคัญที่ต้องแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและป้องกันการฆ่าตัวตายของเด็กและวัยรุ่นที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ต้องเร่งสนับสนุนการดำเนินงานทั้งด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม และกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างหลักประกันให้เด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางมีสุขภาพจิตที่ดี ได้รับการสนับสนุนการดูแล และบริการที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการในเวลาที่เหมาะสมและทันท่วงที" นพ.ณรงค์กล่าว


พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน มีการบูรณาการทั้ง สธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมา เชื่อมโยงกับกลุ่มพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็กปฐมวัย เน้นให้เฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก พัฒนาระบบดูแลสุขภาพจิตนักเรียน ผ่าน App HERO ครูสามารถส่งต่อปรึกษาบุคลากรสาธารณสุขได้ มีหลักสูตรอบรมออนไลน์ให้ครู เรื่องการให้ปรึกษา รับฟังเชิงลึก และปรับพฤติกรรม ในระดับอุดมศึกษาดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัยราชมงคล 38 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีการช่วยเหลือเด็กเปราะบางดูแลเด็กในบ้านพักเด็ก มีระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก อบรมเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็ก ให้ดูแลภาวะวิกฤตสุขภาพจิตเบื้องต้นกับเด็กในบ้านพัก และร่วมสำนักงานศาลยุติธรรม อบรมทักษะการฟังเชิงลึกให้กับผู้พิพากษาสมทบ เรื่องการเข้าถึงบริการของเคสในศาลเยาวชน และมีแผนการดูแลเด็กในสถานพินิจ แผนงานต่อไปคือบูรณาการ 4 กระทรวง สธ. ศธ. พม. และ ยธ. ผ่านองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สร้างระบบป้องกันปัจจัยเสี่ยง แก้ไข เยียวยา ฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิตเพื่อรองรับการบริการเด็กทุกกลุ่ม

"นายกฯ ขอให้สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพจิตและจิตเวชวัยรุ้น ซึ่งรองนายกฯ อนุทินก็ผลักดันให้ได้รับงบกลางขยายบริการ เพราะพบว่าระยะหลังคนโทรมาเป็นวัยรุ่นเยอะมาก ส่วนใหญ่ปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์ ความขัดแข้งไม่ลงตัวในครอบครัว ปัญหาการเรียน ความรัก หลายคนรำพันคิดฆ่าตัวตาย หลายรายได้รับการช่วยเหลือ ส่วนที่ติดตามไม่ได้มาจากหลายสาเหตุ เช่น การย้านสถานที่ ซึ่งวัยรุ่นก็ขอว่าอย่าไปบอกพ่อแม่ เพราะมีความลับเยอะ ขอให้บุคลากรจิตวิทยาช่วยติดตามต่อเนื่อง


นางคยองซอน คิม ผอ.องค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวว่า เด็กและวัยรุ่นหลายล้านคนในไทยก กำลังได้รับผลกระทบจากปัญหาสุขภาพจิต ทั้งโรคเครียด วิตกกังวล และโรคซึมเศร้า เกิดจากปัจจัยมากมาย เช่น ความรุนแรง ถูกกลั่นแกล้ง ความโดดเดี่ยว ความไม่แน่นอน รวมทั้งผลกระทบจากโควิด แต่ปัญหามักถูกบดบัง เนื่องจากการตีตราทางสังคม เข้าไม่ถึงข้อมูล การคัดกรอง สนับสนุน บริการด้านสุขภาพจิตที่เหมาะสม ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพจิตอาจก่อผลกระทบรุนแรงในระยะยาวต่อสุขภาพ การเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน จำกัดความสามารถในการพัฒนาตัวเอง






กำลังโหลดความคิดเห็น