xs
xsm
sm
md
lg

ทีม U2T for BCG ยะลา โชว์แยมส้มแบรนด์ “ส้มซิ่ง” จากส้มโชกุนผลไม้ขึ้นชื่อของเบตง สู่การแปรรูปจนกลายเป็นสินค้าของฝาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทีม U2T for BCG ยะลา โชว์แยมส้มแบรนด์ "ส้มซิ่ง" จากส้มโชกุนผลไม้ขึ้นชื่อของเบตง สู่การแปรรูปจนกลายเป็นสินค้าของฝากที่นักท่องเที่ยวต้องซื้อหากลับไป

เมื่อวันที่ 30 ส.ค.น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม ที่ปรึกษา รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) พร้อมด้วย นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัด อว.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ "U2T for BCG" โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG ภาคต่อของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล หรือ U2T เฟส 1 ที่ ต.เบตง อ.เบตง จ.ยะลา โดยได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนายสกุล เล็งลัคน์กุล นายกเทศมนตรีเมืองเบตง ผศ.ดร.บุญสิทธิ์ ไชยชนะ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ.ดร.เกศรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น คณาจารย์ ผู้เข้าร่วมโครงการ U2T และประชาชนในพื้นที่ อ.เบตง
 
น.ส.นิสากร กล่าวว่า U2T for BCG พื้นที่ อ.เบตง จ.ยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นผู้ดำเนินการ ครอบคลุม 64 ตำบลในเขตจังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส สำหรับ อ.เบตง ได้จัดทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการยกระดับผลิตภัณฑ์แยมส้มโชกุนเบตง ด้วยวิธีการ Zero Waste จากประชาชนในพื้นที่และบัณฑิตจบใหม่ที่เข้าร่วมโครงการขับเคลื่อนในครั้งนี้ เพื่อช่วยประชาชนในพื้นที่ ผู้ประกอบการที่ปลูกส้มโชกุน ซึ่งนับเป็นผลผลิตที่มีจำนวนมากและขึ้นชื่อของ อ.เบตง
 
"การนำเอา BCG มาปรับใช้กับผลผลิตในชุมชนของ อ.เบตง ทำให้เกิดทรัพยากรหมุนเวียน และช่วยแก้ไขปัญหาส้มตกเกรดและยากต่อการจำหน่าย ด้วยวิธีการนำเอาส้มตกเกรดมาแปรรูปเป็นแยมส้มแบรนด์ "ส้มซิ่ง" ผสมผสานกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยและสามารถนำเอากลับมาใช้ใหม่ได้ การให้องค์ความรู้ด้าน วทน. แก่ผู้ประกอบการ จะทำให้ส้มโชกุนและธุรกิจแยมส้มเติบโตขึ้น จนทำให้ส้มโชกุนสามารถยกระดับ จนกลายเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึก ที่นักท่องเที่ยว ที่มา อ เบตง ต้องซื้อหากลับไป" น.ส.นิสากร กล่าว
 
ด้าน นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า โครงการ U2T for BCG ที่ อว.ขับเคลื่อนในช่วงระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ ก.ค. - ก.ย.นี้ ครอบคลุมกว่า 7,435 ตำบลทั่วทั้งประเทศ ซึ่งโครงการนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือประชาชน บัณฑิตจบใหม่และนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากการโควิด -19 โดยครั้งนี้มีมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมกับ อว. และตำบลในพื้นที่เป็นจำนวนมากขึ้นกว่าเดิม ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และที่สำคัญการขับเคลื่อนในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์และบริการมาขยายผลและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ที่เป็นของดีของตำบลต่อไป














กำลังโหลดความคิดเห็น