หมอเด็ก ชี้เชื้อไวรัส "หวัดมะเขือเทศ" เชื่อมโยง "โรคมือเท้าปาก" แต่อาการเปลี่ยนไปมีตุ่มใหญ่กว่า ปวดข้อ ข้อบวม แจงต้องเฝ้าระวังเพราะอาจสัมพันธ์กับ "โควิด" เป็นต้นเหตุทำภูมิคุ้มกันเปลี่ยนไป หรือทำโรคอื่นๆ แปลกไปจากเดิม
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ กุมารแพทย์ด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวถึงกรณีโรคไข้หวัดมะเขือเทศ (Tomato Flu) ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคยังไม่ชัดเจน ไทยก็รอข้อมูลจากอินเดีย เบื้องต้นพบว่าที่อินเดียตั้งแต่ พ.ค. - ปลาย ก.ค. มีผู้ป่วยเข้าข่าย 82 ราย แต่มาพบข้อมูลที่ชัดเจนจากการตรวจจำเพาะทำให้ทราบว่า 2 พี่น้องที่เดินทางจากอินเดียไปอังกฤษ มีประวัติสัมผัสเด็กที่มีผู้ป่วยลักษณะอาการคล้ายกัน ซึ่งผลการตรวจเชื้อไวรัสของเด็กทั้ง 2 ราย พบ เป็นเชื้อ คอกแซคกี A16 (Coxsackie A16) ซึ่งเป็นลักษณะของโรคที่แปลกไปจากโรคมือเท้าปาก โดยมีการสันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสโรคไข้หวัดมะเขือเทศ มีลักษณะเชื่อมโยงกับโรคมือเท้าปาก
“อาการเข้าข่ายของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ เช่น มีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว แต่จะมีลักษณะตุ่มที่ใหญ่กว่ามือเท้าปาก ปวดข้อ ข้อบวม โดยตุ่มจะมีลักษณะสีแดงๆ เป็นก้อนนูนคล้ายลูกมะเขือเทศ เบื้องต้นพบว่า อาการไม่รุนแรง รักษาหายได้ เป็นการรักษาตามอาการ โดยสถานการณ์ใน รพ.เด็ก จากการคัดกรองผู้ป่วย พบว่า ยังไม่พบเด็กที่ป่วยเข้าข่ายตามข้อบ่งชี้โรคไข้หวัดมะเขือเทศ แต่พบเด็กป่วยด้วยทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น ปอดบวม ปอดอักเสบเพิ่มขึ้น รวมไปถึงโรคมือเท้าปาก” พญ.วารุณีกล่าว
พญ.วารุณี กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ทั่วโลกเฝ้าระวังโรคไข้หวัดมะเขือเทศ เพราะอาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศดูแปลกไปจากโรคมือเท้าปาก อาการอาจจะสัมพันธ์กับโรคอื่น เช่น โรคโควิด อย่างไรก็ตาม หลังเกิดโควิด พบว่า มีโรคอื่นๆ ที่แปลกไปจากเดิม และมีความเชื่อมโยงกับภูมิคุ้มกันร่างกายที่เปลี่ยนไปเช่น ภาวะมิสซี หรือ ภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลันในร่างกาย หรือ มีโรคภาวะตับอักเสบรุนแรง ซึ่งคล้ายกับช่วงการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สเปน 1918 หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็จะพบเด็กเป็นโรคตับอักเสบรุนแรงที่อธิบายไม่ได้ ระบาดต่ออีก 2-3 ปี ส่วนในผู้ใหญ่เมื่อติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สเปน ซากเชื้อจะอยู่ในลำไส้ใหญ่ได้นานอีก 4 เดือน ส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดโรคที่มีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม
"ช่วงโควิด เด็กต้องหยุดเรียน ทำให้อยู่แต่ในบ้าน ภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ต้องตอบสนองของสภาพแวดล้อมลดลง หากเด็กติดเชื้อโควิดและมีซากเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นเวลานาน และภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้การแสดงของโรคจากเดิมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้จำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อไป ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน เช่น มีไข้ต่ำ ไม่ยอมทานอาหาร ให้สังเกตตุ่มตามร่างกาย และเด็กอาจจะมีอาการเจ็บและคันตามร่างกาย ให้รีบมาพบแพทย์ เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย รวมถึงเด็กไปโรงเรียนมีการรวมกลุ่มกัน อาจจะติดเชื้อได้ง่าย ฤดูฝนอากาศชื้นง่ายจะพบเด็กติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างและโรคมือเท้าปากจำนวนมาก" พญ.วารุณีกล่าว