xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยดูด "บุหรี่ไฟฟ้า" 8 หมื่นคน หวั่นก่อโรคแทรกซ้อนเพียบ "อนุทิน" ย้ำตัดไฟต้นลม ห้ามนำเข้า เจอขายอุปกรณ์ร้อง ตร.เอาผิดได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบเด็กไทยสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" 8 หมื่นคน เกินครึ่งอายุ 15-24 ปี ทำให้เยาวชนคิดอยากสูบบุหรี่เร็วขึ้น "อนุทิน" ย้ำต้องตัดไฟแต่ต้นลม ไม่อนุญาตนำเข้าและจำหน่าย สร้างความรู้ความเข้าใจพิษภัย ย้ำเจอขายอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าแจ้ง ตร.เอาผิดได้ ศจย.เผยงานวิจัยเกือบ 7 พันชิ้น ชี้บุหรี่ไฟฟ้าก่อโรคแทรกซ้อนเพียบ ก่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 1.8 เท่า เพิ่มปอดอุดกั้นเรื้อรัง 49%ย้ำไม่ช่วยเลิกสูบบุหรี่มวน แต่นำไปสู่การเสพ

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ที่แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรมัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 และดร.ปนัดดา วงษ์ผู้ดี โฆษกคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ แถลงข่าว "บุหรี่ไฟฟ้า ภัยซ่อนเร้นสังคม" ในงานประชุมวิชาการบุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 20


นายอนุทินกล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั่วโลกทราบดีว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ปลอดภัย ทำให้มีนักสูบหน้าใหม่เกิดขึ้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 สำรวจคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 57 ล้านคน พบสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 8 หมื่นคน จำนวนนี้มากกว่าครึ่งเป็นเยาวชน 15 - 24 ปี ถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เยาวชนที่ไม่เคยคิดสูบบุหรี่เลย เริ่มต้นอยากลองสูบบุหรี่เร็วขึ้น มีโอกาสได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่นานขึ้นด้วย จุดยืนของไทยคือ ไม่สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า ไม่มีมาตรการอื่นใดที่มีประสิทธิภาพในการปกป้องเยาวชนไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า และทดลองเสพบุหรี่ไฟฟ้าได้ ถ้าไม่ให้ความรู้ ความเข้าใจและอันตรายได้รับทราบ จึงต้องตัดไฟแต่ต้นลม คือ ไม่สนับสนุน ห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ดำเนินการตามอนุสัญญาพิธีสารว่าด้วยการจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ผิดกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

ผศ.นพ.วิชช์ กล่าวว่า จากงานวิจัยต่างประเทศปี 2014-2021 มี 6,971 ชิ้น พบรายงานโรคแทรกซ้อนจากบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ ระบบทางเดินหายใจ 49% ระบบหัวใจและหลอดเลือด 13% ช่องปากและฟัน 18% สมอง 7% ตับ 2.9% ผิวหนัง 2.9% และระบบอื่นๆ 19% องค์การอนามัยโลก สรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อทุกระบบของร่างกาย สารนิโคตินมีฤทธิ์เสพติดสูงสุด ทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายน้อยลง และมีสารพิษอื่นเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก สอดคล้องสมาคมโรคหัวใจอเมริกา ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 1.8 เท่า ปอดอักเสบ เสี่ยงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 49% หอบหืด 39% บุหรี่ไฟฟ้ามือหนึ่งและมือสองมีผลต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ ทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาท สมาธิสั้น น้ำหนักแรกเกิดน้อย โดยเฉพาะสมองที่กำลังพัฒนาของเด็กและเยาวชนอายุถึง 25 ปี ทำให้การทำงานของสมองลดลงมากกว่าเด็กที่ไม่เคยสูบ 3-4 เท่า

“บุหรี่ไฟฟ้าไม่ช่วยเลิกบุหรี่ ยังเป็นประตูนำไปสู่การสูบบุหรี่มวนและสารเสพติดอื่น 3.29 เท่า คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อเลิกบุหรี่มวนจะกลับมาสูบบุหรี่มวน 4.4 เท่า ด้านความสูญเสียทางเศรษฐกิจ มีงานวิจัยของสหรัฐฯ ค่ารักษาพยาบาลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท สูงกว่ารายได้จากภาษีบุหรี่ไฟฟ้าที่จัดเก็บได้ 300 ล้านบาท การสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมด้วย” ผศ.นพ.วิชช์ กล่าว


ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า มาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลก มี 2 รูปแบบ คือ 1.ห้าม และ 2.ควบคุมโดยแยกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์ยา ส่วนมาตรการเรื่องห้ามส่วนประกอบ ควบคุมเหมือนกับสารพิษ เหมือนกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ เหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภค และเหมือนสินค้าเฉพาะนั้น หากประเทศไทยใช้เพียง 4 มาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดการเสพติดนิโคตินต่อเนื่อง ทั้งไม่ได้ปกป้องเยาวชนจากการทดลองใช้และเสพ ส่วนควบคุมโดยแยกย่อยเป็นผลิตภัณฑ์ยา อย.เคยให้ข้อมูลต่ออนุกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ว่า บริษัทบุหรี่ไฟฟ้า ควรนำมาขึ้นทะเบียนให้ อย. ตรวจสอบ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมเพื่อใช้ในการเลิกสูบบุหรี่ แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ผลิตรายใดมาขอขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเลิกสูบบุหรี่กับ อย.

ศ.พญ.สมศรี กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสารทดแทนในการเลิกสูบบุหรี่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการเสพติดบุหรี่หรือเสพติดอื่นในเด็กและเยาวชน สมาพันธ์ฯ และภาคีเครือข่าย ยืนยัน 9 เหตุผลที่ไทยต้องคงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า คือ 1.เป้าหมายของผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าคือ เด็กและเยาวชน 2.เป็นต้นทางของการสูบบุหรี่ธรรมดาของเด็กและเยาวชน 3.เป็นอันตราย ทำลายสุขภาพ 4.นิโคติน ทำให้เสพติด อันตรายเกินคาด 5.ไม่ได้ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้จริง 6.ส่งผลเสียต่อสังคมมากกว่าผลดี 7.ทำให้ไทยถอยหลังในการควบคุมยาสูบ 8.การห้ามจำหน่ายคือ มาตรการสำคัญในการปกป้องเด็กจากการตกเป็นเหยื่อ และ 9.ควรยึดนโยบาย "ปลอดภัยไว้ก่อน" เพราะชีวิตคนไทยมีค่าเกินกว่าจะเอาไปเสี่ยง โดยไทยเป็นประเทศที่ 12 ของโลกที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ตั้งแต่ปี 2557 ยังไม่มีประเทศใดยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันปกป้องกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าของไทย เพื่อคุ้มครองเยาวชน


นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า จากผลสำรวจภาวะสุขภาพนักเรียนในไทย ปี 2564 โดยองค์การอนามัยโลก พบนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้บุหรี่ไฟฟ้า 13.6% บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง มีสารนิโคตินเท่าบุหรี่ซอง 20 มวน นิโคตินเป็นสารพิษทำลายสมอง เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญมีผลกระทบต่อสุขภาพเด็กและเยาวชน สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการและระบบข้อมูลข่าวสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของสังคมในประเด็น Hot Issue เช่น บุหรี่/บุหรี่ไฟฟ้ากับโรคระบาดโควิด บุหรี่กับกัญชา การปลูกพืชทดแทนใบยาสูบ เพื่อสร้างความรู้รอบทางสุขภาพด้านการควบคุมยาสูบให้แก่ประชาชนให้สามารถตระหนักและรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เหมาะสม

ดร.ปนัดดา กล่าวว่า มีข้อเรียกร้อง 2 ประการ คือ 1.ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันให้ความรู้เยาวชน ให้รู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และต้องทำหน้าที่ปกป้องเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ไฟฟ้า และ 2.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ควบคุมไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้าถึงเยาวชน ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าทุกช่องทาง ซึ่งขณะนี้สื่อออนไลน์มีการบิดเบือนข้อมูลให้เข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย ไม่อันตรายเพื่อจูงใจให้มาสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก

เมื่อถามว่ายังพบเห็นจำหน่ายอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าขายหน้าร้านและออนไลน์ นายอนุทินกล่าวว่า ก็ผิดกฎหมาย กฎหมายใดๆ ก็ตามจะกำหนดให้มีเจ้าพนักงาน มีผู้ไปดำเนินคดีต่างๆ กรณีนี้ถ้าพบเห็นที่ไหนก็แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการได้ ย้ำว่าเราไม่เพิ่มของใหม่เข้ามาและพยายามลดการสูบของเก่าคือบุหรี่มวน เราพยายามทำในอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ยังไม่เห็นประเทศไหนห้ามสูบบุหรี่ได้ทั้งประเทศ








กำลังโหลดความคิดเห็น