เมื่อเร็วนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อํานวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เข้าเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ณ อ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี และหารือแนวทางการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงาน โดยมี ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อํานวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะผู้บริหารร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า สกสว. ได้เล็งเห็นศักยภาพของ สวทช. ที่เป็นสถาบันวิจัยที่มีงานวิจัยในหลากหลายสาขา มีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคน เป็นหน่วยงานสำคัญที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานสำคัญของประเทศอย่าง เช่น BCG Economy เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent (AI)) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) ซึ่งมีความโดดเด่นในการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ ดังนั้น จึงเป็นโจทย์สำคัญของ สกสว. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดสรรงบประมาณและจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ถึงการหนุนเสริมและสนับสนุน ในการทำงานของ สวทช. ผ่านกลไกนโยบายและงบประมาณ รวมถึงการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของหน่วยรับงบประมาณด้าน ววน. 170 หน่วยงาน ที่ สกสว. จัดสรรให้ ทั้งในเรื่องของการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการขยายผลในระดับพื้นที่ และระดับประเทศต่อไป
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อํานวยการ สวทช. นำเสนอแนวทางการดำเนินงานและผลการดําเนินงานสำคัญของ สวทช. ใน 3 เรื่อง คือ BCG Economy Model, เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ EECi ว่า BCG เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้มีความเข้มแข็ง และประชาชนมีรายได้สูงขึ้น ที่ สวทช. นำมาใช้กำหนดโจทย์ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วย BCG ประกอบด้วย 4 แผนยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร 2.สุขภาพและการแพทย์ 3.พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของประเทศไทยในฐานความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมของประเทศไทย
เช่นเดียวกับเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ที่สามารถเชื่อมต่อกับความต้องการของประเทศ ใน 3 กลุ่มวิจัย คือ 1.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเครื่องมือแพทย์ นวัตกรรมสุขภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทุกคนสามารถเข้าถึง เช่น จัดทำและพัฒนาโปรแกรม AMED Telehealth: แอปพลิเคชันรายงานสุขภาพประจำวันสำหรับผู้ที่กักตัวใน State Quarantine หรือ คนไข้ในโรงพยาบาลสนาม และ การรักษาตัวที่บ้าน ที่ปัจจุบันมีหน่วยบริการที่ใช้เครื่องมือดังกล่าว จำนวน 1,381 แห่ง สามารถดูแลผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 1,160,389 คน 2.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ได้ทั้งการสร้างเสริมความมั่นคงของประเทศและประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น ชุดนวัตกรรม Smart City จบปัญหาของเมืองในแพลตฟอร์มเดียว ผ่านแอปพลิเคชันแจ้งและติดตามปัญหาของเมือง และ 3.การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างความเข้มแข็งในอุสาหกรรมระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ภายในประเทศ
รวมถึงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ให้เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำทางอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) เช่น เมืองนวัตกรรมชีวภาพ เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติหุ่นยนต์ และระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ที่ดำเนินการภายใต้ศูนย์นวัตกรรมการผลิตที่ยั่งยืน โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่สังกะสีไอออน
จากนั้น คณะผู้บริหาร สวทช. นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จาก สกสว. เยี่ยมชมผลงานของ สวทช. และห้องปฏิบัติการ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตร ณ โรงเรือนความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2 (BSL-2) โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพเพื่ออุตสาหกรรม และเทคโนโลยีด้านนวัตกรรมอาหาร ณ อาคาร BIOTEC Pilot Plant ห้องปฏิบัติการโรงงานต้นแบบและผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมพลังงาน และด้านเทคโนโลยีวัสดุ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพของประเทศ (National Quality Infrastructure: NQI) เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลงานแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มแพ็คแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ดีภายหลังการเยี่ยมชม ผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานได้มีการหารือการทำงานร่วมกันอีกครั้ง โดยสกสว.มุ่งหวังให้ สวทช. เป็นต้นแบบในการทำงานให้กับหน่วยรับงบประมาณด้าน ววน. และการขับเคลื่อนการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้กับภาคอุตสาหกรรมและพื้นที่ เพื่อการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของประเทศต่อไป